• Future Perfect
  • Articles
  • SCB CIO หนุนผู้ประกอบการ-นักลงทุน ตระหนักถึงความสำคัญของ Green Taxonomy

SCB CIO หนุนผู้ประกอบการ-นักลงทุน ตระหนักถึงความสำคัญของ Green Taxonomy

Sustainability

ความยั่งยืน16 ก.ย. 2566 12:30 น.

SCB CIO หนุนผู้ประกอบการ-นักลงทุน ตระหนักถึงความสำคัญของ Green Taxonomy เพื่อมุ่งเน้นสร้างความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม 

ดร.กำพล อดิเรกสมบัติ ผู้อำนวยการอาวุโส และหัวหน้าทีม SCB Chief Investment Office (SCB CIO) ธนาคารไทยพาณิชย์ เผยว่า ภูมิภาคหลักๆ ในโลกได้จัดทำมาตรฐานกลางที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล (ESG) โดยระบุเงื่อนไขอย่างชัดเจนและโปร่งใสเพื่อนำไปใช้อ้างอิงในการช่วยจัดกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจประเภทต่างๆ โดยเฉพาะหมวดธุรกิจที่มีความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม (Green Taxonomy)  

ทั้งนี้ SCB CIO วิเคราะห์มาตรฐานด้าน Green Taxonomy ของกลุ่มประเทศต่างๆ ได้แก่ EU Taxonomy, ASEAN Taxonomy และ Thailand Taxonomy พบว่า EU Taxonomy เป็นต้นแบบกฎหมาย Green Taxonomy ของทั่วโลก ที่เริ่มบังคับใช้ตั้งแต่เดือน ก.ค. 2020 เป็นกฎหมายกำหนดนิยามและจัดหมวดหมู่กิจกรรมเศรษฐกิจที่คำนึงถึงความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม และบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2050 

เน้นลดปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การใช้และปกป้องทรัพยากรน้ำและทะเลอย่างยั่งยืน การเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจหมุนเวียน การป้องกันและควบคุมมลพิษ และการปกป้องและฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพและระบบนิเวศ หัวใจสำคัญของ EU Taxonomy คือต้องการจัดการปัญหาการฟอกเขียว (Greenwashing) เพื่อช่วยให้ผู้ที่มีส่วนร่วมในตลาดเงินตลาดทุน ลงทุนในสินทรัพย์ที่ยั่งยืนได้อย่างมั่นใจ ทั้งยังกำหนดหน้าที่การเปิดเผยข้อมูลเชื่อมโยงกับ Taxonomy ไว้ให้บริษัทและผู้มีส่วนร่วมในตลาดเงินต้องปฏิบัติตามด้วย

ส่วน ASEAN Taxonomy ไม่ได้เป็นกฎหมาย แต่มีลักษณะเป็นมาตรฐานกลางเพื่อให้ประเทศสมาชิกในภูมิภาคนำไปปรับใช้และดำเนินการจัดทำกฎหมายหรือข้อบังคับ Taxonomy ของประเทศตัวเอง โดยมีวัตถุประสงค์ใกล้เคียงกับ EU Taxonomy แต่มุ่งเน้นไปที่การสนับสนุนคำมั่นสัญญาของกลุ่มอาเซียน ในการปฏิบัติตามข้อตกลงปารีส (Paris Agreement) และข้อตกลงในระดับชาติ ซึ่งไม่ได้ระบุชัดเจนในประเด็นปกป้องทรัพยากรน้ำและทะเล และป้องกันควบคุมมลพิษ

สำหรับ Thailand Taxonomy มีวัตถุประสงค์การสร้างความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม 6 ข้อ ได้แก่ 1. การลดปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 2. การปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 3. การใช้ทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน 4. การอนุรักษ์และฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพและระบบนิเวศ  5. การป้องกันและควบคุมมลพิษ และ 6. การใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน และการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจหมุนเวียน 

ซึ่ง Thailand Taxonomy มีการระบุกิจกรรมเศรษฐกิจที่นำไปสู่การบรรลุวัตถุประสงค์ด้านสิ่งแวดล้อมที่ชัดเจน คือ หลีกเลี่ยงการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก สนับสนุนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยเป้าหมายแรกคือ ภาคพลังงานและขนส่ง ซึ่งปล่อยก๊าซคาร์บอนรวมกันเกือบ 70% ของการปล่อยก๊าซคาร์บอนทั้งหมด  

ในส่วนของประเทศไทย ได้ให้คำมั่นสัญญาในการประชุม UN Climate Change Conference ครั้งที่ 26 ว่า ไทยจะเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี 2050 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2065 ขณะที่ ธนาคารไทยพาณิชย์ ตั้งเป้าหมายปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ จากการดำเนินงานภายในปี 2030 และจากการให้สินเชื่อและการลงทุนภายในปี 2050 

ทั้งนี้ Green Taxonomy จะทำให้บริษัทจดทะเบียนต้องพยายามปรับเปลี่ยนหรือดำเนินธุรกิจให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของ Taxonomy มากขึ้น ขณะที่สถาบันการเงินขนาดใหญ่มีแนวโน้มต้องมุ่งเน้นนำเสนออัตราดอกเบี้ยที่จูงใจมากขึ้น รวมทั้งสนับสนุนบริษัทที่ออกตราสารหนี้ เพื่อกิจกรรมเศรษฐกิจที่สอดคล้องกับ Taxonomy และนักลงทุนสถาบัน จะต้องประยุกต์ใช้ Taxonomy กับการออกแบบผลิตภัณฑ์การเงิน เช่น ลงทุนในกิจกรรมที่สอดคล้องกับ Taxonomy นำเสนอกองทุนที่คำนึงถึงปัจจัยด้าน ESG เพราะต้องปฏิบัติตามข้อบังคับการเปิดเผยข้อมูลทางการเงินที่ยั่งยืนของสหภาพยุโรป (Sustainable Finance Disclosure Regulation)

ส่วนนักลงทุนรายย่อย หากหันมาเน้นลงทุนกับผลิตภัณฑ์การเงินที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น จะเป็นแรงผลักดันให้ผู้ให้บริการต้องแก้ไขข้อกำหนดการบริหารพอร์ตลงทุน และการให้คำแนะนำลงทุนโดยพิจารณาเรื่องความยั่งยืน ควบคู่กับความสามารถในการยอมรับความเสี่ยงมากขึ้น รวมทั้งนำเสนอผลิตภัณฑ์สำหรับนักลงทุนรายย่อย ที่เน้นสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสิ่งแวดล้อมหรือหลีกเลี่ยงการลงทุนที่สร้างผลกระทบในทางตรงกันข้ามกับวัตถุประสงค์ Taxonomy ซึ่งจะนำไปสู่โอกาสของบริษัทที่ดำเนินกิจกรรมเศรษฐกิจสอดคล้องกับ Taxonomy ในการเข้าถึงนักลงทุนรายย่อยได้มากขึ้น.