• Future Perfect
  • Articles
  • โรดแม็ปจัดการ "ขยะพลาสติก" ยังเป็นไปตามแผนหรือไม่

โรดแม็ปจัดการ "ขยะพลาสติก" ยังเป็นไปตามแผนหรือไม่

Sustainability

ความยั่งยืน17 ส.ค. 2566 10:23 น.
  • ส่องโรดแม็ปการจัดการขยะพลาสติกของประเทศ พ.ศ.2561-2573 เพื่อเป็นกรอบและทิศทางการดำเนินการป้องกันและแก้ไขการจัดการขยะพลาสติกของประเทศ
  • วิธีจัดการขยะพลาสติกในประเทศมีวิธีใดบ้าง ซึ่งหากกำจัดไม่ถูกวิธีอาจส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมทั้งทางตรง และทางอ้อม
  • เช็กโรดแม็ปการจัดการขยะพลาสติกเดินทางมาถึงระยะที่ 3 พ.ศ.2566-2573

เนื่องจากประเทศไทย และประเทศในกลุ่มอาเซียน ถูกจัดให้เป็นประเทศอันดับต้นๆ ของโลกที่ต้องให้ความสำคัญกับขยะพลาสติกในทะเลที่มีจำนวนมหาศาล เนื่องจากความต้องการใช้พลาสติกมากขึ้น

โดยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมามีรายงานว่า ประเทศไทย มีขยะพลาสติกประมาณ 12% ของปริมาณขยะทั้งหมด หรือประมาณปีละ 2 ล้านตัน ในจำนวนนี้มีพลาสติกที่ถูกนำกลับไปใช้ใหม่ 0.5 ล้านตันเท่านั้น อีก 1.5 ล้านตัน เป็นขยะพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียว เช่น ถุงร้อน หลอดพลาสติก กล่องโฟม ฯลฯ 

ซึ่งขยะพลาสติกเหล่านี้ใช้เวลาในการย่อยสลายนับร้อยปี แม้จะมีการฝังกลบก็ต้องมีงบประมาณในการจัดการเรื่องพื้นที่ และถ้าหากจัดการไม่ดีก็อาจทำให้เกิดเป็นปัญหามลพิษสิ่งแวดล้อม มลพิษทางทะเล จากสารเคมีที่ถูกชะล้างไปกับน้ำฝน กระทบต่อระบบนิเวศด้วย

รัฐบาลได้ตระหนักถึงปัญหามลพิษสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากขยะพลาสติก โดยนายกรัฐมนตรีได้มีข้อสั่งการในการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อเดือนเมษายน 2561 ให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัดป้องกันและแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกแบบบูรณาการตั้งแต่ต้นทางยันปลายทางอย่างเป็นรูปธรรม จึงได้มีการจัดตั้งคณะอนุกรรมการการบริหารจัดการขยะพลาสติกภายใต้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ และคณะทำงานด้านการพัฒนากลไกการจัดการพลาสติก ภายใต้คณะอนุกรรมการบริหารจัดการพลาสติก ก่อนร่างโรดแม็ปการจัดการขยะพลาสติกของประเทศ พ.ศ.2561-2573 เพื่อใช้เป็นกรอบและทิศทางการดำเนินการป้องกันและแก้ไขการจัดการขยะพลาสติกของประเทศ

ซึ่งโรดแม็ปฉบับนี้เปิดโอกาสให้ภาครัฐ เอกชน องค์กรระหว่างประเทศ สถาบันการศึกษา และประชาชนที่เกี่ยวข้อง เข้ามามีส่วนร่วมในการเสนอแนะ โดยผ่านการประชุมของคณะทำงานฯ เพื่อให้ได้โรดแม็ปที่มีความครบถ้วนสมบูรณ์ เสนอต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบ เพื่อประกาศเป็นนโยบายระดับชาติ ผลักดันไปสู่การจัดการขยะพลาสติกของประเทศต่อไป

วิธีจัดการขยะพลาสติก

สำหรับวิธีการจัดการขยะพลาสติกในบ้านเรามีอยู่ด้วยกัน 4 วิธี ได้แก่

1. การฝังกลบ เป็นวิธีที่นำมาใช้กับพลาสติกที่ปนเปื้อน ไม่คุ้มกับต้นทุนในการจัดเก็บ ล้างทำความสะอาด อาทิ ถุงร้อน ถุงหูหิ้ว ฯลฯ โดยจะนำไปฝังกลบตามสถานที่กำจัดขยะมูลฝอยขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งวิธีนี้เป็นวิธีที่สิ้นเปลืองงบประมาณในการจัดการ และถุงพลาสติกเหล่านี้ก็ย่อยสลายได้ยาก

2. การนำกลับมาใช้ใหม่ โดยผ่านกระบวนการรีไซเคิล และการใช้ซ้ำ แต่เนื่องจากมีขั้นตอนที่ยุ่งยาก และค่าใช้จ่ายสูง อีกทั้งต้องแยกพลาสติกที่ปนเปื้อนออกจากกัน ทำให้มีขยะพลาสติกเพียงบางส่วนเท่านั้นที่ถูกนำกลับมารีไซเคิล

3. การนำขยะพลาสติกมาผลิตเป็นเชื้อเพลิง RDF เนื่องจากขยะพลาสติกเป็นขยะที่ให้ค่าความร้อนสูง ซึ่งในประเทศไทยมีการนำ RDF มาใช้เป็นเชื้อเพลิงในโรงงานผลิตปูนซีเมนต์รายใหญ่

4. การเผา ซึ่งในประเทศไทยมีระบบเตาเผา 2 รูปแบบ คือ เตาเผาผลิตพลังงาน และเตาเผาทิ้ง ซึ่งการเผาที่ไม่ถูกต้องจะส่งผลให้เกิดสารพิษในชั้นบรรยากาศจากส่วนประกอบของพลาสติก และอาจนำไปสู่การปนเปื้อนลงแหล่งน้ำ ดิน รวมไปถึงปนเปื้อนในระบบห่วงโซ่อาหารด้วย

เป้าหมายโรดแม็ปการจัดการขยะ พ.ศ.2561-2573 

สำหรับเป้าหมายของโรดแม็ปการจัดการขยะ พ.ศ.2561-2573 นั้นจะประกอบด้วย 2 เป้าหมาย คือ 

เป้าหมายที่ 1 การลดและเลิกใช้พลาสติก หันมาใช้วัสดุทดแทนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยเลิกใช้พลาสติกหุ้มฝาขวดน้ำดื่ม, พลาสติกที่ผสมสารอ็อกโซ่ และไมโครบีดส์ ภายในปี 2562 และเลิกใช้ถุงพลาสติกหูหิ้วขนาดความหนาน้อยกว่า 36 ไอครอน, กล่องโฟมบรรจุอาหาร แก้วพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว และหลอดพลาสติก ภายในปี 2565

เป้าหมายที่ 2 คือ การนำขยะพลาสติกเป้าหมายกลับมาใช้ประโยชน์ 100% ภายในปี 2570 

ทั้งนี้ ร่างแผนปฏิบัติการด้านการจัดการขยะพลาสติก พ.ศ.2561-2573 แบ่งออกเป็น 3 ระยะ ซึ่งขณะนี้เข้าสู่ระยะที่ 3 (พ.ศ.2566-2573) โดยมีรายละเอียดดังนี้

มาตรการลดการเกิดขยะพลาสติก ณ แหล่งกำเนิด

  • การสร้างมาตรฐานอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์พลาสติกที่นำกลับมารีไซเคิลและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
  • การส่งเสริมให้มีการออกแบบเชิงนิเวศเศรษฐกิจ (Eco-Design) สำหรับผลิตภัณฑ์พลาสติกเพื่อให้นำมารีไซเคิล หรือทำประโยชน์ใหม่ได้ 100%
  • การส่งเสริมให้ผู้บริโภคเกิดการซื้อ หรือใช้ผลิตภัณฑ์พลาสติกที่มีมาตรฐานการออกแบบเชิงนิเวศเศรษฐกิจ (Eco-Design) หรือการนำไปไซเคิลหรือทำประโยชน์ได้ 100%
  • การสนับสนุนการผลิตผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดส้อมเพื่อทดแทนพลาสติกใช้ครั้งเดียว (Single-use plastics)
  • การจัดทำฐานข้อมูลพลาสติก Material Flow of Plastic ของประเทศ


มาตรการลด เลิกใช้พลาสติก ณ ขั้นตอนการบริโภค

  • การลด เลิกใช้ พลาสติกใช้ครั้งเดียว (Single-use plastics) อื่นๆ ที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และไม่สามารถนำกลับเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy)
  • โครงการ "ทำความดีด้วยหัวใจ ลดภัยสิ่งแวดล้อม" เพื่อลด เลิกใช้ พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว (Single-useplastics) ภายใต้ความร่วมมือของภาครัฐ เอกชน และประชาชน ทั้งการคัดแยกขยะมูลฝอยในหน่วยงานภาครัฐ ลดใช้ถุงพลาสติกในห้างสรรพสินค้า ร้านสะดวกซื้อ ตลาดสดทั่วประเทศ ฯลฯ ลดใช้ถุงพลาสติกหูหิ้ว และโฟมบรรจุอาหารในเขตอุทยานแห่งชาติทั้ง 154 แห่ง รวมถึงพื้นที่สวนสัตว์ และการจัดการขยะบกสู่ขยะทะเล ในพื้นที่ 24 จังหวัดชายทะเล
  • การประกาศพื้นที่ปลอดบุรี่และปลอดขยะตามพระราชบัญญัติการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พ.ศ.2558
  • การจัดทำหลักสูตรการเรียนการสอน เรื่อง เศรษฐกิจหมุนเวียน และการจัดการทรัพยากรโดยการจัดการขยะตั้งแต่ต้นทาง
  • การสนับสนุนองค์ความรู้ รณรงค์ ประชาสัมพันธ์ สร้างความตระหนักแก่ประชาชน เยาวชน ให้มีส่วนร่วมในการจัดการขยะตั้งแต่ต้นทาง
  • ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการธุรกิจด้านการท่องเที่ยวดำเนินการตามมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมในแหล่งท่องเที่ยว

มาตรการจัดการขยะพลาสติกหลังการบริโภค

  • การสนับสนุนการนำขยะพลาสติกเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล
  • การนำขยะพลาสติกเป้าหมายเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ภายใต้ความร่วมมือของภาครัฐ เอกชน และประชาชน
  • การบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับการจัดตามที่ได้มีการพัฒนากฎหมายใหม่ (โครงการ Quick win ภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ)
  • การส่งเสริมให้ร้านรับซื้อของเก่ามีการจัดการสภาพร้านที่ดี
  • การส่งเสริมให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีการนำขยะพลาสติกมาผลิตเชื้อเพลิงขยะ (Refuse Derived Fuel : RDF)
  • ส่งเสริมให้เกิดหน่วยคัดแยกขยะรีไซเคิลออกจากขยะอินทรีย์ในระดับชุมชน เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับขยะพลาสติกและขยะรีไซเคิลอื่นๆ
  • การส่งเสริมให้เกิดธุรกิจ Upcycing ทั้งในระดับบริษัทขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดย่อม เช่น ทำเสื้อจากขยะขวด PET
  • การพัฒนาระบบรวบรวมขยะพลาสติกในพื้นที่ของรัฐ หรือเอกชน ที่ใช้ประโยชน์ร่วมกัน อาทิ ห้างสรรพสินค้า ร้านสะดวกซื้อ รวมทั้งส่งเสริมระบบมัดจำและระบบเรียกคืนซากผลิตภัณฑ์ (Deposit Refund)
  • การวางระบบและโครงสร้างพื้นฐานในการคัดแยกและจัดการขยะแบบครบวงจรในทุกพื้นที่
  • โครงการถนนพลาสติกตัวอย่างในพื้นที่ภาคเอกชน และขยายผลสู่การเป็นมาตรฐานถนนพลาสติกสำหรับประเทศไทย เพื่อให้ทุกท้องที่นำไปแก้ปัญหาด้านขยะพลาสติกได้
  • จัดทำโมเดลโครงการนำร่องการจัดการขยะอย่างมีประสิทธิภาพในพื้นที่นำร่อง ได้แก่ ระยอง คลองเตย
  • โครงการทำไม้เทียม หรือผลิตภัณฑ์เพื่อการก่อสร้างจากขยะพลาสติกเพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมสีเขียว
  • การศึกษา ค้นคว้า และจัดหาเทคโนโลยีในการจัดการใช้ประโยชน์ขยะพลาสติกอย่างมีประสิทธิภาพและสร้างโมเดลธุรกิจที่อย่างยั่งยืน
  • การศึกษาวิจัยผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมจากการจัดการพลาสติกใช้ครั้งเดียว (Single-use plastic) แบบไม่ถูกต้อง
  • การยกย่องเชิดชูเกียรติผู้ประกอบการ หรือชุมชน หรือผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่มีการบริหารจัดการขยะพลาสติกที่ดี
  • โครงการพัฒนาการใช้ประโยชน์จากขยะพลาสติกอื่นๆ ได้แก่ ถนน ผลิตภัณฑ์อื่นๆ


ทั้งนี้ เมื่อเราเช็กลิสต์ดูแล้วพบว่าตอนนี้ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานภาครัฐ เอกชน หรือภาคประชาชนเอง มีความตื่นตัวในเรื่องของการจัดการขยะที่ไม่ใช่แค่ขยะพลาสติก เนื่องจากปัญหา "โลกร้อน" ที่คาดว่าจะทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งอย่างที่รู้กันว่าหนึ่งในต้นตอของ "โลกร้อน" ก็มาจากปัญหาขยะ ทั้งการลดการใช้พลาสติก ถุงพลาสติก กล่องโฟม ฯลฯ หรือการรีไซเคิลขยะพลาสติกให้เป็นผลิตภัณฑ์ใหม่

จากนี้คงต้องตามดูกันต่อว่าหากเราเดินตามโรดแม็ปแล้ว ปริมาณขยะพลาสติกในบ้านเราจะลดน้อยลงหรือไม่.