• Future Perfect
  • Articles
  • รู้จัก "พลังงานหมุนเวียน" ทางเลือกเพื่อโลกแห่งความยั่งยืน

รู้จัก "พลังงานหมุนเวียน" ทางเลือกเพื่อโลกแห่งความยั่งยืน

Sustainability

ความยั่งยืน7 ส.ค. 2566 08:00 น.
  • ทำความรู้จัก "พลังงานหมุนเวียน" พลังงานทางเลือก ที่สามารถช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้
  • ไขข้อสงสัย พลังงานหมุนเวียน มีกี่ประเภท และมีประโยชน์ต่อโลกอย่างไรบ้าง
  • เผยข้อจำกัดของการใช้ "พลังงานหมุนเวียน" ในประเทศไทย ที่ต้องผลักดันสู่ความยั่งยืน

อย่างที่หลายคนทราบกันดีว่า สถานการณ์สิ่งแวดล้อมโลกในปัจจุบันนี้ กำลังประสบปัญหาอย่างหนัก จากสภาพอากาศที่แปรปรวน อุณหภูมิสูงขึ้นต่อเนื่อง ภัยธรรมเกิดขึ้นบ่อยครั้งในหลายพื้นที่ ทั้งไฟไหม้ป่า หรือแผ่นน้ำแข็งละลายที่อย่างรวดเร็ว ปรากฏการณ์ผิดปกติที่เกิดในทะเล มหาสมุทร รวมไปถึงการสูญพันธุ์ของสัตว์บางชนิด

ทำให้ทั่วโลก ตระหนักรู้ถึงปัญหาสิ่งแวดล้อม และได้ดำเนินกิจกรรมต่างๆ เพื่อแก้ปัญหาวิกฤติทางสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้น เห็นได้จากการที่หลายประเทศ เริ่มใช้กฎระเบียบที่เข้มงวดมากขึ้นในเรื่องของการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ รวมถึงการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากที่สุด เพื่อลดหรือแก้ปัญหามลพิษ และการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

อีกทั้งยังมีการ ให้ความรู้และแนวทางปฏิบัติที่ยั่งยืน สำหรับผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น การเกษตร การผลิต และการขนส่ง เป็นต้น รวมไปถึงส่งเสริมให้ใช้ "พลังงานหมุนเวียน" ที่มีอยู่ตามธรรมชาติ มาใช้เป็นพลังงานทางเลือก เนื่องจากมีประโยชน์ และสามารถทำให้โลกพัฒนาไปได้อย่างยั่งยืน

พลังงานหมุนเวียนคืออะไร

พลังงานหมุนเวียน หรือ Renewable Energy คือ พลังงานที่ใช้ไม่หมด สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ ซึ่งมีแหล่งกำเนิดตามธรรมชาติรอบ ๆ ตัวเรา เป็นพลังงานทางเลือกที่ถูกนำมาใช้ในปัจจุบัน เพื่อทดแทนพลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิล หรือพลังงานที่ใช้แล้วหมดไป จำพวกน้ำมัน ถ่านหิน ก๊าซธรรมชาติ หินน้ำมัน และทรายน้ำมัน เป็นต้น

จัดเป็นพลังงานสะอาด ไม่ก่อมลพิษ หรือส่งกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เนื่องจากไม่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และยังช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ที่เป็นสาเหตุของภาวะโลกร้อนได้อีกด้วย

ประเภทของ "พลังงานหมุนเวียน"

สำหรับพลังงานหมุนเวียน ที่ทั่วโลกนิยมใช้ในปัจจุบัน สามารถแบ่งออกได้ 5 ประเภท ดังนี้

1. พลังน้ำ (Hydropower)

น้ำคือปัจจัยสำคัญต่อการดำรงชีวิตของสิ่งมีชีวิต โดยเฉพาะมนุษย์ที่ได้ใช้ประโยชน์จากน้ำอย่างมากมาย ทั้งการบริโภค และอุปโภค อีกทั้งยังสามารถใช้เป็นแหล่งพลังงานในการผลิตไฟฟ้า

โดยอาศัยหลักการเปลี่ยนรูปของพลังงาน จากน้ำที่เก็บกักในเขื่อน ให้ไหลผ่านท่อส่งน้ำไปปั่นในเครื่องกังหันน้ำ และเครื่องกำเนิดไฟฟ้า เพื่อผลิตเป็นพลังงานไฟฟ้า ซึ่งปริมาณพลังงานที่ได้ จะขึ้นอยู่กับความสูงของน้ำ และอัตราการไหลของน้ำที่ใช้ในกระบวนการผลิตไฟฟ้า สำหรับโรงไฟฟ้าพลังน้ำในประเทศไทย แบ่งออกเป็น 4 ประเภท ได้แก่

  • โรงไฟฟ้าพลังน้ำจากอ่างเก็บน้ำ (Reservoir)
  • โรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบน้ำไหลผ่านตลอดปี (Run-ofriver)
  • โรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับ (Pumped-storage)
  • โรงไฟฟ้าพลังน้ำท้ายเขื่อนชลประทาน

2. พลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Energy)

เป็นแหล่งพลังงานหมุนเวียน ที่ได้รับจากการแผ่รังสีของดวงอาทิตย์ ที่สะอาดและมีอยู่มากในธรรมชาติ จึงถูกนำมาใช้ประโยชน์ด้านต่างๆ ได้อย่างแพร่หลาย และยั่งยืน เนื่องจากสามารถนำมาใช้ผลิตไฟฟ้า และความร้อนได้ โดยการใช้เซลล์แสงอาทิตย์ หรือ โซลาร์เซลล์ (Solar Cell) มาเปลี่ยนพลังงานแสงอาทิตย์ ให้เป็นพลังงานไฟฟ้าได้โดยตรง เพื่อแจกจ่ายเป็นกระแสไฟฟ้า ให้กับบ้านเรือน ภาคธุรกิจอุตสาหกรรม รวมไปถึงยานพาหนะ

3. พลังงานลม (Wind Energy)

แหล่งพลังงาน ที่เกิดขึ้นจากปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ คือ การไหลของอากาศ ที่มีการเคลื่อนตัวของอากาศจากบริเวณที่มีความกดอากาศสูงไปยังบริเวณที่มีความกดอากาศต่ำ โดยในปัจจุบัน มนุษย์ได้นำพลังงานลม มาใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้า 

เนื่องจากมีอยู่ทั่วไป ไม่มีวันหมด แถมยังเป็นพลังงานที่สะอาด ที่ไม่ก่อให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม โดยใช้เทคโนโลยี "กังหันลม" มาเป็นกลไกสำคัญในการผลิตกระแสไฟ ซึ่งปริมาณไฟฟ้าที่ผลิตได้ จะขึ้นอยู่กับความเร็วของลม ความยาวของใบพัด และสถานที่ติดตั้งกังหันลม

4. พลังงานความร้อนใต้พิภพ (Geothermal Energy)

พลังงานความร้อนใต้พิภพ เป็นพลังงานความร้อนที่อยู่ใต้ผิวโลก เช่นเดียวกับน้ำมันปิโตรเลียม แต่เก็บอยู่ในรูปของน้ำร้อน หรือไอน้ำร้อน ซึ่งเกิดจากการเคลื่อนตัวของเปลือกโลก ที่ทำให้เกิดรอยแตกของชั้นหิน

เมื่อมีฝนตกลงมาในบริเวณนั้น น้ำบางส่วนจะไหลซึมลงไปสะสมใต้ผิวโลกตามแนวรอยแตกดังกล่าว และได้รับความร้อนจากชั้นหินที่มีความร้อน จนกระทั่งน้ำกลายเป็นน้ำร้อนและไอน้ำ ที่แทรกตัวมาตามแนวรอยแตกของชั้นหินขึ้นมาบนผิวดิน

ซึ่งจะปรากฏให้เห็นในรูปของบ่อน้ำร้อน น้ำพุร้อน ไอน้ำร้อน บ่อโคลนเดือดและแก๊ส เป็นต้น พลังงานนี้สามารถใช้เพื่อวัตถุประสงค์ต่างๆ เช่น การให้ความร้อน การผลิตไฟฟ้า และแม้กระทั่งการใช้งานด้านการเกษตร

5. พลังงานชีวมวล (Biomass)

พลังงานจากธรรมชาติ ที่กักเก็บในรูปของสารอินทรีย์ ส่วนใหญ่ได้มาจากกาก หรือเศษวัสดุเหลือใช้ จากการเกษตร และกระบวนการผลิตทางอุตสาหกรรม รวมถึงพืชพลังงาน ได้แก่ แกลบ ฟางข้าว ชานอ้อย ใบและยอดอ้อย เศษไม้ ไม้โตเร็ว เส้นใยและกะลาปาล์ม กากมันสำปะหลัง ซังข้าวโพด กาบและกะลามะพร้าว ส่าเหล้า ขยะมูลฝอย น้ำเสียจากโรงงาน รวมไปถึงมูลสัตว์

สารอินทรีย์เหล่านี้มักเรียกว่า "ชีวมวล" สามารถนำมาใช้ในการผลิตความร้อน ไฟฟ้า หรือแม้แต่เชื้อเพลิงชีวภาพ ถือเป็นพลังทางเลือกอีกหนึ่งประเภทที่ยั่งยืน และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เนื่องจากวัสดุอินทรีย์ที่ใช้ในการผลิต นั้นหาได้ง่าย และสามารถทดแทนได้ด้วยกระบวนการทางธรรมชาติ

ประโยชน์ของ "พลังงานหมุนเวียน" ที่มีต่อโลก และสังคม

พลังงานหมุนเวียน จัดเป็นพลังงานทางเลือก ที่มีประโยชน์มากมายต่อโลก และสังคม ดังนี้

  1. สร้างความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อม 
    แหล่งพลังงานหมุนเวียนทั้งหมด มาจากธรรมชาติ ทำให้ปล่อย "ก๊าซเรือนกระจก" สู่ธรรมชาติเพียงเล็กน้อย หรือไม่มีเลย ดังนั้น การเลือกใช้พลังงานหมุนเวียน จึงสร้างประโยชน์สำคัญในการส่งเสริมความยั่งยืนของโลก เพราะไม่สร้างมลพิษทางอากาศ หรือส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แน่นอน
  2. ส่งเสริมความมั่นคงด้านพลังงาน
    แหล่งพลังงานหมุนเวียนมีมาก จึงหาได้ง่ายในธรรมชาติ ต่างจากเชื้อเพลิงฟอสซิล ที่มีจำกัดและมีราคาผันผวน แหล่งพลังงานหมุนเวียนมีมากมาย หากหลายประเทศเปลี่ยนมาใช้พลังงานหมุนเวียนมากยิ่งขึ้นก็จะสามารถลดค่าใช้จ่าย และทำให้จัดหาพลังงานมีเสถียรภาพมากขึ้น
  3. สนับสนุนการสร้างงาน
    ภาคพลังงานหมุนเวียน สามารถโอกาสในการจ้างงานที่สำคัญได้ จากการลงทุนในโครงการพลังงานหมุนเวียน เช่น การสร้างฟาร์มพลังงานแสงอาทิตย์ หรือ ฟาร์มกังหันลม ที่ต้องอาศัยแรงงานในการผลิต การติดตั้ง การดำเนินงาน รวมไปถึงการบำรุงรักษา จึงเป็นช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในท้องถิ่น และสนับสนุนการเติบโตของแรงงานที่ยั่งยืน
  4. ขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจ
    การเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานหมุนเวียน สามารถขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจได้ จากการลงทุนในเทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียน และโครงสร้างพื้นฐาน ที่สร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ ดึงดูดการลงทุนภาคเอกชน และส่งเสริมนวัตกรรม นอกจากนี้พลังงานหมุนเวียน ยังช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน ทำให้ธุรกิจและครัวเรือนประหยัดมากยิ่งขึ้นอีกด้วย
  5. มีประโยชน์ต่อสุขภาพของประชาชน 
    อย่างที่หลายคนทราบกันดีว่า แหล่งพลังงานแบบดั้งเดิม เช่น ถ่านหินและน้ำมัน มีส่วนทำให้เกิดมลพิษทางอากาศ และทางน้ำ ซึ่งนำไปสู่ผลเสียต่อสุขภาพ การเปลี่ยนไปสู่พลังงานหมุนเวียน จะทำให้เราสามารถปรับปรุงคุณภาพอากาศ ลดการเจ็บป่วยทางระบบทางเดินหายใจ และลดผลกระทบของมลพิษ ต่อสุขภาพของประชาชนได้
  6. เพิ่มโอกาสในการเข้าถึงพลังงาน 
    หลายประเทศทั่วโลกใช้พลังงานหมุนเวียน ในการขยายการเข้าถึงไฟฟ้า ดังที่เห็นจาก ระบบพลังงานหมุนเวียนนอกโครงข่าย "ระบบบ้านพลังงานแสงอาทิตย์" ที่สามารถนำไฟฟ้า ไปยังพื้นที่ห่างไกล โดยไม่ต้องพึ่งพาโครงสร้างพื้นฐาน หรือโครงข่ายไฟฟ้าที่มีราคาแพง ทำให้ชุมชนคุณภาพชีวิตดีขึ้น เข้าถึงการศึกษา การดูแลสุขภาพ และบริการที่จำเป็นอื่นๆ

ข้อจำกัดของการใช้ "พลังงานหมุนเวียน" และความท้าทายของไทย

จากที่กล่าวมาทั้งหมดจะเห็นว่า พลังงานหมุนเวียนมีประโยชน์มาก หลายประเทศทั่วโลก รวมถึงไทยจึงนำมาใช้ในการผลิตความร้อน ผลิตเชื้อเพลิง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การผลิตกระแสไฟฟ้า ทดแทน "เชื้อเพลิงฟอสซิล" ซึ่งเป็นแหล่งพลังงานเดิม ที่อาจหมดไปในอนาคตอันใกล้นี้ 

อย่างไรก็ตาม การใช้พลังงานหมุนเวียน ก็ยังคงประสบปัญหาด้านข้อจำกัดตามธรรมชาติ เนื่องจากพลังงานบางชนิด แม้จะมีอยู่มาก แต่ก็ไม่สามารถนำมาใช้ได้ทุกเวลา และไม่เพียงพอ เช่น ถ้าท้องฟ้ามืดครึ้ม ก็จะไม่มีแสงอาทิตย์ ถ้าลมสงบก็จะไม่มีลมไปหมุนกังหัน หรือถ้าระดับน้ำในเขื่อนไม่เพียงพอ ก็ผลิตไฟฟ้าไม่ได้

นอกจากนี้ พลังงานบางชนิดอย่าง พลังงานความร้อนใต้พิภพ ยังพบได้เฉพาะบางพื้นที่เท่านั้น และใช้งบประมาณสูงในการเริ่มต้นเปลี่ยนพลังงาน ที่มีอยู่ตามธรรมชาติ ให้กลายมาเป็นพลังงานหมุนเวียน

ดังนั้น การพัฒนาและผลิตพลังงานหมุนเวียน เพื่อสร้างความยั่งยืนให้ประเทศ จึงเป็นเรื่องที่ท้าทายสำหรับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ และเอกชน ที่จะต้องร่วมกันหาทางจัดการให้สามารถนำพลังงานหมุนเวียน มาใช้ประโยชน์ให้เหมาะสม และคุ้มค่ามากขึ้น เพื่อสร้างอนาคตที่สะอาด และยั่งยืน.