• Future Perfect
  • Articles
  • กินผักช่วยโลก บริโภค "เนื้อสัตว์" น้อยลง ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้

กินผักช่วยโลก บริโภค "เนื้อสัตว์" น้อยลง ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้

Sustainability

ความยั่งยืน31 ก.ค. 2566 11:37 น.
  • เนื้อสัตว์ที่มาจากอุตสาหกรรมการเพาะพันธุ์ เป็นหนึ่งในตัวการที่ทำลายโลก เพราะทำให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก หรือ Greenhouse gases สู่ธรรมชาติทั้งทางตรงและทางอ้อม
  • นอกจากนี้ "อุตสาหกรรมเนื้อสัตว์" ยังส่งผลกระทบต่อการสร้างมลพิษให้กับสิ่งแวดล้อม จากการปล่อยน้ำเสีย และสิ่งปฏิกูลลงสู่แม่น้ำ ลำคลอง
  • ผลการวิจัยชี้ เพียงแค่ลดการบริโภคเนื้อสัตว์ให้น้อยลง แล้วหามาทานผักให้มากขึ้น นอกจากจะมีส่วนช่วยให้ร่างกายมีสุขภาพดีแล้ว และช่วยโลกได้อีกทางหนึ่งด้วย

รู้หรือไม่ เพียงแค่เราบริโภคเนื้อสัตว์ในมื้ออาหารให้น้อยลง ก็สามารถลดโลกร้อนได้ และให้ผลลัพธ์ไม่ต่างจากการลดใช้รถยนต์ส่วนตัว การพกถุงผ้า หรือการงดเผาขยะ

เพราะต้นทางของเนื้อสัตว์ไม่ว่าจะเป็นหมู ไก่ หรือเนื้อ ที่เรากินกันทุกวัน ล้วนแต่ทำให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก หรือ Greenhouse gases สู่ธรรมชาติทั้งทางตรงและทางอ้อม จากการเลี้ยงในฟาร์ม อาหารสัตว์ โรงเรือน การจัดการเลี้ยงดู การจัดการของเสีย การขนส่ง เป็นต้น 

นอกจากนี้ในบางพื้นที่ยังมีการตัดไม้ทำลายป่าเพื่อปลูกพืชสำหรับผลิตเป็นอาหารสัตว์ เปลี่ยนเป็นพื้นที่ฟาร์มสำหรับเลี้ยงสัตว์ เมื่อป่าไม้ลดลง อุณหภูมิก็จะสูงขึ้น ส่งผลกระทบด้านอื่นๆ ตามมา แม้ในปัจจุบันมีวิธีการผลิตเนื้อหมูแบบออร์แกนิกที่สุด ก็ยังสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่าพืชถึง 8 เท่า

ดังนั้น การบริโภคเนื้อสัตว์ให้น้อยลง แล้วหันมาทานผักให้มากขึ้น นอกจากจะเป็นทางเลือกในการดูแลสุขภาพตนเองแล้ว ก็ยังสามารถช่วยโลกได้ในทางอ้อมอีกด้วย

ทำไมอุตสาหกรรม "เนื้อสัตว์" ถึงไม่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

เนื้อสัตว์ที่จะกล่าวถึงในที่นี้คือ เนื้อสัตว์ส่วนใหญ่ที่เลี้ยงในฟาร์ม สำหรับทำอุตสาหกรรมการเพาะพันธุ์เพื่อจำหน่าย หรือแปรรูปในปริมาณมาก ซึ่งสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ดังนี้

  • ทำให้เกิดการตัดไม้ทำลายป่า และไฟป่า 

เนื้อสัตว์อุตสาหกรรม ถือเป็นอีกหนึ่งสาเหตุใหญ่ที่สุดของการทำลายป่าไม้ทั่วโลก เนื่องจากเกษตรกรจะจุดไฟเพื่อเผาล้างพื้นที่ทำฟาร์มปศุสัตว์ และปลูกอาหาร สำหรับสัตว์อุตสาหกรรมและสัตว์กินหญ้า รวมถึงเผาป่าเพื่อปลูกอาหารสัตว์เป็นจำนวนมากอีกด้วย

  • ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ผลกระทบของสภาพอากาศจากเนื้อสัตว์อุตสาหกรรม เกิดต่อเนื่องจากการเผาป่า เพราะเมื่อพื้นป่าไม้ถูกทำลายไป แน่นอนว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์หลายพันล้านตันจะถูกปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศ เร่งให้เกิดภาวะโลกร้อน ต้นไม้ที่ล้มก็จะถูกปล่อยให้เน่าอยู่บนพื้นป่า หรือ ถูกเผา ทำให้เกิดการปล่อยมลพิษต่อไป

  • ทำลายชีวิตสัตว์ป่า

ปฏิเสธไม่ได้ว่า การถางป่า หรือเผาทำลาย รวมไปถึงการใช้สารกำจัดศัตรูพืชที่เป็นพิษในแต่ละครั้ง เพื่อปลูกอาหารสัตว์ นอกจากจะสร้างมลพิษให้กับสิ่งแวดล้อมแล้วยังไปทำลายแหล่งที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตในพื้นที่นั้นๆ

  • สร้างมลพิษให้กับสิ่งแวดล้อม

การทำอุตสาหกรรมสัตว์ ยังสร้างผลกระทบต่อแม่น้ำ และลำคลอง เนื่องจากมีการปล่อยน้ำเสีย และสิ่งปฏิกูลที่มาจากการทำกิจกรรมเลี้ยงสัตว์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการทำอาหาร หรือการทำความสะอาดคอกสัตว์ ล้วนแต่สร้างผลกระทบให้กับสิ่งแวดล้อม

ทั้งนี้ ยังมีผลวิจัยที่ประเมินว่าอุตสาหกรรมปศุสัตว์ทั่วโลกมีส่วนทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจกประมาณ 14% หรือเทียบเท่ากับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของภาคคมนาคมขนส่งทุกประเภท ซึ่งก๊าซเรือนกระจกส่วนใหญ่ที่ปล่อยออกมาคือ "ก๊าซมีเทน" ที่มาจากการตด และเรอของสัตว์เคี้ยวเอื้อง เช่น วัว ควาย แพะ แกะ 

นอกจากนี้การทานเนื้อไก่ในปัจจุบันยังสร้างรอยเท้าทางนิเวศขนาดใหญ่คือ มีปริมาณการบริโภค และขยะที่เกิดขึ้นในปริมาณที่สูง เมื่อเทียบกับอัตราการฟื้นฟูระบบนิเวศ ซึ่งส่งผลกระทบมหาศาลต่อสิ่งแวดล้อม

ผลวิจัยชี้ กินอาหาร "วีแกน" ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้

ทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัย Oxford ได้ทำการสำรวจการกินอาหารของประชากร 55,000 คนในอังกฤษ เปรียบเทียบการกินที่สร้างผลกระทบต่อโลก ระหว่างคนกินวีแกน และคนกินเนื้อสัตว์ โดยใช้ข้อมูลจากฟาร์ม 38,000 แห่ง ใน 119 ประเทศ เพื่ออธิบายความแตกต่างในอาหารแต่ละประเภทที่มีวิธีผลิตที่แตกต่างกัน

พบว่าการรับประทานอาหารวีแกนสามารถช่วยลดความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมได้มากกว่า โดยลดการปล่อยมลพิษจากสภาพอากาศร้อน มลพิษทางน้ำ และการใช้ที่ดินถึง 75% เมื่อเทียบกับการรับประทานอาหารที่มีเนื้อสัตว์มากกว่า 100 กรัมต่อวัน และยังพบว่าการกินอาหารวีแกนยังช่วยลดภัยคุกคามสัตว์ป่าลงถึง 66% และช่วยลดการใช้น้ำ 54%

นอกจากนี้ทีมวิจัยยังเผยอีกว่าการกินเนื้อสัตว์น้อยกว่า 50 กรัมต่อวัน จะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก มลพิษทางน้ำ และการใช้ที่ดินถึง 50% เมื่อเทียบกันการกินเนื้อในปริมาณมาก ดังนั้นหากต้องการลดผลกระทบที่อุตสาหกรรมอาหารมีต่อโลก การเลือกกินอาหารจึงสำคัญกว่าการเปลี่ยนวิธีการผลิตอาหาร

วีแกน คืออะไร

อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่าการทานอาหารแบบวีแกนสามารถช่วยโลกได้ อาจทำให้หลายคนสงสัยว่าแท้จริงแล้ววีแกนคืออะไร สำหรับเทรนด์การทานอาหารประเภทวีแกน หรือ Vegan เป็นอีกหนึ่งระดับของการกินมังสวิรัติที่มีความเคร่งครัดกว่า คือไม่บริโภคอาหารที่มาจากผลิตภัณฑ์ของสัตว์ แม้กระทั่งน้ำผึ้ง

โดยจะกินแต่ธัญพืช เมล็ดพืชต่างๆ ผลไม้ ผัก และพืชตระกูลถั่วเท่านั้น รวมไปถึงการงดการเบียดเบียนสัตว์ทุกชนิดทั้งทางตรงและทางอ้อม ไม่ว่าจะเป็นเครื่องแต่งกายที่ทำมาจากหนังสัตว์ ขนสัตว์ หรือแม้กระทั่งผลิตภัณฑ์เสริมความงามที่ทดลองกับสัตว์ก็ตาม

การทาน "วีแกน" มีผลดีอย่างไรต่อสิ่งแวดล้อม

สำหรับใครที่สนใจที่จะทานอาหารวีแกน นอกจากจะเป็นทางเลือกเพื่อสุขภาพแล้วยังช่วยลดโลกร้อนได้ ดังนี้

  1. ช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการทำฟาร์มปศุสัตว์ เนื่องจากลดจำนวนผู้บริโภคเนื้อสัตว์ลง
  2. ลดการใช้ที่ดิน การใช้ทรัพยากรจำนวนมากเพื่อมาผลิตอาหารสัตว์
  3. ช่วยส่งเสริมการเกษตรให้เพิ่มมากขึ้น เน้นการปลูกพืชที่ให้คุณค่าทางสารอาหารสูง เพื่อสนับสนุนผู้บริโภค และยังใช้ทรัพยากรในการดูแลน้อยลงเพื่อสิ่งแวดล้อมที่ดี

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่คนทานอาหารแบบวีแกนจะต้องคำนึง และให้ความสำคัญคือ ต้องบริโภคอาหารในสัดส่วน และปริมาณที่เหมาะสม เพื่อให้มั่นใจว่าจะได้รับปริมาณสารอาหารครบถ้วนตามที่ร่างกายต้องการ เนื่องจากต้องลดการกินอาหารบางประเภทที่เป็นแหล่งสารอาหารที่สำคัญต่อร่างกาย ซึ่งทำให้เสี่ยงต่อการขาดสารอาหารอย่าง โปรตีน สังกะสี และแคลเซียม

จากที่กล่าวมาทั้งหมดจะเห็นได้ว่าการใช้ชีวิตแบบวีแกนก็เป็นอีกหนึ่งเทรนด์เพื่อสุขภาพที่หลายคนมองเห็นประโยชน์ในด้านของการเป็นมิตรกับทั้งคน สัตว์ และโลก ที่แม้ในปัจจุบันจะยังไม่ได้เป็นปัจจัยหลักในการลดโลกร้อน แต่ก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ดี หากในอนาคต "วีแกน" หรือการเปลี่ยนวิธีทานอาหารโดยลดการบริโภคเนื้อสัตว์ได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้น เชื่อว่าก็สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้มากกว่าเดิมแน่นอน.