• Future Perfect
  • Articles
  • "ขยะอาหาร" มีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น ไม่ควรมองข้าม ผลกระทบต่อ "สิ่งแวดล้อม"

"ขยะอาหาร" มีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น ไม่ควรมองข้าม ผลกระทบต่อ "สิ่งแวดล้อม"

Sustainability

ความยั่งยืน26 ก.ค. 2566 18:00 น.
  • คนไทย 1 คน สร้างขยะอาหารสูงถึง 254 กิโลกรัมต่อปี
  • "ขยะอาหาร" ในประเทศไทย ปัจจุบันมีแนวโน้มทวีความรุนแรงมากขึ้น
  • เปิด 4 แนวทางจัดการ "ขยะอาหาร" กำจัดทิ้งอย่างถูกวิธี

"อาหาร" ถือเป็นปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิตของมนุษย์ แต่ในปัจจุบัน ทั่วโลกนั้นกำลังเผชิญกับปัญหา "ขยะอาหาร" (Food Waste) เนื่องจากสถานการณ์ขยะอาหารของทั่วโลกในแต่ละปี พบว่าอาหารกว่า 1,300 ล้านตัน หรือ 1 ใน 3 ของอาหารที่ผลิตได้ทั่วโลก ต้องกลายเป็นขยะอาหารที่ถูกทิ้งไปอย่างสูญเปล่า

สำหรับประเทศไทยนั้น กว่า 60% ของขยะ พบว่ามาจาก "ขยะอาหาร" โดยคนไทย 1 คน สร้างขยะอาหารสูงถึง 254 กิโลกรมต่อปี ทำให้เกิดปัญหาและผลกระทบที่ท้าทายมวลมนุษยชาติ เกิดการหมักและย่อยสลายกลายเป็นแก๊สมีเทน (CH4) ซึ่งเป็นแก๊สเรือนกระจกที่มีความรุนแรงกว่า แก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 27-30 เท่า ถือเป็นสาเหตุให้เกิด 8-10% ของแก๊สเรือนกระจกทั่วโลก แถมยังเกิดกลิ่นรบกวน และเป็นแหล่งเพาะเชื้อโรค

ขยะอาหารในไทย มีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น

อาจารย์ ดร.รชา เทพษร อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (SCI-TU) เผยว่า ขยะอาหารในประเทศไทย ปัจจุบันมีแนวโน้มทวีความรุนแรงมากขึ้น โดยพบว่าจากเดิมที่มีการรายงานตัวเลข ขยะอาหารของไทยในปี 2565 ที่ผ่านมา อยู่ที่ 17 ล้านตัน จากสถานการณ์ปัจจุบันตัวเลขอาจขยับสูงขึ้นจนน่าเป็นห่วง เนื่องจากที่ผ่านมา พบว่าไทยมีการสูญเสียอาหารจนกลายเป็นขยะ จากการผลิตอาหารได้คุณภาพที่ไม่ตามมาตรฐานที่กำหนด (Food Loss) อยู่ที่ประมาณ 30% ซึ่งถือว่าเป็นตัวเลขที่สูงมาก เมื่อเทียบกับประชากรกลุ่มที่ไม่มีอาหารบริโภค และอีกส่วนเกิดจากการบริโภคไม่ทันหรือบริโภคไม่หมด ทำให้ต้องทิ้งจนกลายเป็นขยะอาหาร

แม้ความนิยม "อาหารไทย" จะเพิ่มขึ้น จากการจัดอันดับอาหารอร่อยจากหลายเวที ที่ยกให้อาหารไทยหลายเมนู ติดอันดับในเมนูยอดนิยม จะส่งผลดีต่อภาพรวมของธุรกิจอาหาร ตั้งแต่สตรีทฟู้ด, หาบเร่แผงลอย ไปจนถึงระดับอุตสาหกรรม ที่เรียกได้ว่าเติบโตทั้งห่วงโซ่ แต่ปัญหาที่ตามมาคือ "ขยะอาหาร" ก็ยังเพิ่มขึ้นเป็นเป็นเงาตามตัว ซึ่งหากไทยยังไม่มีแผนสำหรับการจัดการอย่างเป็นระบบ อาจทวีความรุนแรงและอาจเริ่มส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมได้ 

ข้อแนะนำสำหรับ "ผู้ผลิต" ที่มีการผลิตหรือเตรียมอาหารแบบมากจนเกินไป (Over Prepare) หรือการทำอาหารเกินกว่าการบริโภคจริง ทำให้เกิดอาหารเหลือทิ้งจำนวนมาก ดังนั้น ผู้ผลิตจึงต้องมีการบันทึกรวบรวมข้อมูลว่า กระบวนการผลิตอาหารหรือแปรรูปอาหารขั้นตอนไหน ที่ทำให้เกิด Food Loss หรือ Over Prepare 

รวมทั้งพบว่า มีการสูญเสียอาหารจากกระบวนการผลิตถึง 30% จึงควรหาแนวทางแก้ไขเพื่อลดการสูญเสีย เช่น การมีระบบการผลิตที่ดีมีคุณภาพที่ช่วยลดการสูญเสียอาหาร ซึ่งส่วนใหญ่ผู้ผลิตอาหารมักให้ความสนใจในเรื่องนี้ เพราะหากผลิตไม่ได้คุณภาพก็เท่ากับสูญเสียทั้งทรัพยากรและงบประมาณ

ส่วน "ผู้บริโภค" ที่มีพฤติกรรมการนำอาหารมากักตุนไว้จำนวนมาก โดยไม่มีการวางแผนในการบริโภค จนอาหารที่ตุนไว้เหลือในตู้เย็นจำนวนมากและหมดอายุจนต้องนำไปทิ้ง ซึ่งมักพบพฤติกรรมการกำจัดของในตู้เย็นทุกสัปดาห์ด้วยการนำไปทิ้ง และซื้ออาหารใหม่เข้ามากักตุนไว้อีก โดยแนะนำให้ใส่ใจข้อมูลการนำเสนอของผู้ผลิต เช่น ดูวันหมดอายุ และวางแผนการบริโภค เลือกซื้ออาหารที่มีระยะเวลาก่อนหมดอายุที่เหมาะสมกับแผนการบริโภค

"อาหารบุฟเฟต์" ทำให้เกิด "ขยะอาหาร" จำนวนมาก

อีกเรื่องที่มองข้ามไม่ได้ คือ "ธุรกิจอาหารแบบบุฟเฟต์" ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าทำให้เกิดขยะอาหารจำนวนมากเช่นกัน เนื่องจากจุดขายธุรกิจอาหารแบบบุฟเฟต์ คือ มีอาหารหลายเมนู ซึ่งผู้ประกอบการต้องเตรียมอาหารเอาไว้เพื่อดึงดูดลูกค้าในปริมาณที่มากจนเกินความต้องการ (Over Prepare) ขณะที่ผู้บริโภคเองก็รู้สึกว่าเมื่อรับประทานแบบบุฟเฟต์ ก็ต้องได้รับประทานให้เกิดความคุ้มค่า ดังนั้นเรื่องขยะอาหาร จึงเป็นเรื่องที่เกี่ยวพันทั้งระบบห่วงโซ่อาหาร ทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค ซึ่งทั้งหมดต้องตระหนักถึงความรับผิดชอบต่อเรื่องนี้ร่วมกัน

นอกจากนี้ การเข้าถึงโอกาสของ Future Trend ด้านอาหาร ก็กำลังเป็นแนวทางอาชีพที่กำลังเป็นเทรนด์ขาขึ้น ตอบโจทย์ยุคที่ประชากรโลกต้องการเข้าถึงความมั่นคงทางอาหาร และการจัดการของเหลือจากอาหารได้อย่างยั่งยืนด้วยเช่นกัน

4 แนวทางจัดการ "ขยะอาหาร"

  • ลดความยาวของห่วงโซ่อาหารให้สั้นลง พร้อมตั้งกฎเหล็กของการซื้ออาหารปรุงสำเร็จและวัตถุดิบ เช่น อย่าซื้อตอนหิว ซื้อเฉพาะที่จำเป็น และไม่ตกเป็นทาสของการตลาด เพื่อสร้างวินัยในการซื้ออาหาร
  • เพิ่มคุณประโยชน์ให้อาหารที่ใกล้เป็นของเสีย โดยการแปรรูปอาหารเพื่อยืดอายุ ซึ่งเรามีภูมิปัญญาในเรื่องเหล่านี้มานาน อาทิ การอบแห้ง การนำไปผ่านความร้อน-ความเย็น การหมักดอง เป็นต้น
  • การนำขยะอาหารไปใช้ให้เกิดคุณค่าหรือมูลค่าเพิ่มขึ้น เช่น การทำก๊าซชีวภาพ เพื่อไม่เป็นภาระต่อสิ่งแวดล้อม
  • กำจัดทิ้งอย่างถูกวิธี ซึ่งส่วนใหญ่อาหารเราจะใช้วิธีในการฝังกลบ แต่ก่อนที่จะมาถึงขั้นตอนการทิ้งขยะอาหารนั้น ควรจะต้องผ่านกระบวนการลดการเกิดขยะอาหารเหล่านี้ก่อน ซึ่งหากดำเนินการทั้งหมดนี้ก็จะสามารถช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อมจากขยะอาหารได้

สุดท้ายนี้ วิธีการลดปริมาณขยะเศษอาหารได้ที่ดีที่สุด คือการบริโภคอาหารให้หมด โดยเริ่มตั้งแต่จานของเรา เพราะอาหารที่ถูกทานจนหมดในทุกมื้อ สามารถช่วยลดปริมาณก๊าซเรือนกระจก ลดการสะสมของเชื้อโรคตั้งแต่ถังขยะไปจนถึงบ่อพักขยะ ซึ่งถ้าทุกคนช่วยกัน เชื่อว่าทุกการเริ่มต้นเล็กๆ น้อยๆ จะช่วยเปลี่ยนแปลงให้หลายอย่างดีขึ้นแน่นอน.