• Future Perfect
  • Articles
  • BCG Model ภารกิจอนุรักษ์-ใช้ประโยชน์ จากพื้นที่สีเขียว อย่างยั่งยืน

BCG Model ภารกิจอนุรักษ์-ใช้ประโยชน์ จากพื้นที่สีเขียว อย่างยั่งยืน

Sustainability

ความยั่งยืน5 มิ.ย. 2566 11:51 น.
  • 5 มิถุนายน ของทุกปี ตรงกับวันสิ่งแวดล้อมโลก หรือ World Environment Day
  • ประเทศไทยโดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กับกรอบแนวคิดการขับเคลื่อนโมเดล เศรษฐกิจ BCG อนุรักษ์ ใช้ประโยชน์จากพื้นที่สีเขียว อย่างยั่งยืน รวมถึงลดความเหลื่อมล้ำ

"5 มิถุนายน" ของทุกปี จะตรงกับ วันสิ่งแวดล้อมโลก หรือ World Environment Day เป็นวันที่ได้รับการก่อตั้งขึ้น จากองค์การสหประชาชาติ เพื่อให้ทุกคนเกิดความตื่นตัวในด้านวิกฤตการณ์สิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นทั่วโลกอย่างรุนแรง ส่งผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและมนุษย์ที่ต้องดำรงชีวิตในสภาพสิ่งแวดล้อมที่ขาดสมดุล เพื่อให้เกิดการรู้เท่าทัน ร่วมมือกันหาแนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนต่อไป

ขณะที่ประเทศไทยเอง มีการนำ BCG Model มาใช้ในการขับเคลื่อน เพื่อให้เกิดการอนุรักษ์ และฟื้นฟูทรัพยากร มีการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรอย่างยั่งยืน รวมถึงมุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำ

นโยบาย BCG Model คืออะไร

เนื่องจากในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยขยายตัวช้า คนส่วนใหญ่ของประเทศมีรายได้น้อย และยังติดกับดักรายได้ปานกลางมาอย่างยาวนาน รัฐบาลต้องเร่งขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ด้วยการปรับเปลี่ยนรูปแบบการพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคมไทย ไปสู่รูปแบบใหม่ ที่เรียกว่า BCG Economy Model ที่จะช่วยต่อยอดจุดแข็งของประเทศ ทั้งในด้านความหลากหลายทางชีวภาพและความหลากหลายทางวัฒนธรรม ให้มีมูลค่ามาขึ้น โดยอาศัยกลไกวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม 

โดย BCG โมเดล จะประกอบไปด้วย 3 เศรษฐกิจหลัก คือ

B = Bio Economy ระบบเศรษฐกิจชีวภาพ มุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรชีวภาพอย่างคุ้มค่า 

C = Circular Economy ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน ที่คำนึงถึงการนำวัสดุต่างๆ กลับมาใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด

G = Green Economy ระบบเศรษฐกิจสีเขียว ทั้งสองเศรษฐกิจที่กล่าวมาด้านบนนั้น ต้องมุ่งแก้ไขปัญหามลพิษ เพื่อลดผลกระทบต่อโลกอย่างยั่งยืน


แล้ว BCG โมเดล เกี่ยวข้องกับ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างไร

สำหรับกรอบแนวคิดการขับเคลื่อนโมเดล เศรษฐกิจ BCG ในภารกิจของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมนั้น เริ่มมาจาก (ร่าง)แผนปฏิบัติการด้านการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศไทยด้วยเศรษฐกิจ BCG พ.ศ. 2564-2570 ประกอบด้วย

1. การสร้างความยั่งยืนของฐานทรัพยากรความหลากหลายทางชีวภาพและวัฒนธรรม ด้วยการจัดสมดุลระหว่างการอนุรักษ์ ฟื้นฟู และการใช้ประโยชน์ 

2. การพัฒนาชุมชนและเศรษฐกิจฐานรากให้เข้มแข็งด้วยทุนทรัพยากร อัตลักษณ์ ความคิดสร้างสรรค์ และเทคโนโลยีสมัยใหม่

3. การยกระดับการพัฒนาอุตสาหกรรม ภายใต้เศรษฐกิจ BCG ให้สามารถแข่งขันได้อย่างยั่งยืน

4. การเสริมสร้างความสามารถในการตอบสนองต่อกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลก

ควบรวมกับ แผนแม่บทกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ระยะ 20 ปี พ.ศ. 2561-2580 และนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในการบริการจัดการทรัพยากรธรรมชาติให้เกิดประโยชน์อย่างสมดุล สร้างความสมดุลและความยั่งยืนด้านทรัพยากรน้ำให้กับประชาชนอย่างทั่วถึง และรักษาระบบนิเวศ ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดี มุ่งเน้นการผลิตและบริโภคที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม หรือ สังคมคาร์บอนต่ำ โดยมีการขับเคลื่อน BCG Model นำร่องใน 5 พื้นที่สงวนชีวมณฑล พื้นที่ตัวอย่างในการประยุกต์แนวทาง BCG กับภารกิจของกระทรวงฯ


สรุปประเด็นที่ทางกระทรวงฯ ต้องการขับเคลื่อน ซึ่งจะมีเป้าหมาย และตัวชี้วัดดังนี้ 

1. อนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ เพื่อความสมดุลของระบบนิเวศ และเป็นฐานการพัฒนา : มีฐานข้อมูลทรัพยากรธรรมชาติครอบคลุมพื้นที่เป้าหมาย จำนวน 33 โครงการ มีสัดส่วนพื้นที่สีเขียว และความสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติเพิ่มขึ้น จำนวน 21 โครงการ

2. ใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน เพื่อสร้างและกระจายรายได้อย่างเป็นธรรม : มีผลิตภัณฑ์และบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม จากฐานทรัพยากร ที่ได้รับการรับรองและส่งเสริมตลาด 4 โครงการ และพื้นที่ของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้รับการพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยว (อุทยานแห่งชาติ  เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า, ป่าสงวนแห่งชาติ, อุทยานธรณีและถ้ำ, พื้นที่แหล่งมรดกโลก และอื่นๆ) ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม 20 โครงการ รวมถึงมีการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรอย่างยั่งยืน และมีส่วนร่วมในชุมชน 32 โครงการ

3. ลดการใช้ทรัพยากร ลดขยะ และของเสีย : มีฐานข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมครอบคลุมพื้นที่เป้าหมาย 2 โครงการ สร้างการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการลด และขจัดมลพิษสิ่งแวดล้อม โดยการใช้ประโยชน์จากฐานข้อมูล และลดการใช้ทรัพยากร และมลพิษสิ่งแวดล้อม 2 โครงการ

4. มุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำ และวิถีชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม : สร้างคนที่มีวิถีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม 5 โครงการ และสร้างสังคมคาร์บอนต่ำ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 14 โครงการ

BCG Model ปรับมุมมอง เปลี่ยนวิธีคิด สู่ความยั่งยืน


ทั้งนี้ นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (รมว.ทส.) ได้เคยบรรยายพิเศษในกิจกรรมปฐมนิเทศหลักสูตรผู้บริหารระดับสูงด้านการค้าและการพาณิชย์ รุ่นที่ 15 หรือ TEPCoT 15 ในหัวข้อ BCG Economy Model: The New Growth Engine for Thailand in the Post-COVID World ไว้ว่า BCG Economy Model จะเป็น platform ที่ช่วยเชื่อมโยงการเปลี่ยนแปลงที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และลดความเหลื่อมล้ำ รวมถึงเป็นกลไกสำคัญในการก้าวข้ามความท้าทาย เพื่อนำพาประเทศไปสู่ความยั่งยืน

ขณะที่ ปัญหา Climate Change หรือ การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ที่ถูกยกให้เป็นภัยคุกคามสำคัญทางเศรษฐกิจของโลกในระยะยาว และแนวโน้มการเปลี่ยนแปลง หลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่เป็นจุดเปลี่ยนทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะเป็นโอกาสในการปรับตัวเพื่อนำพาประเทศก้าวไปข้างหน้านั้น

ประเทศไทยได้มีนโยบายการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแบบปล่อยคาร์บอนต่ำ เห็นชอบให้การขับเคลื่อน BCG Model เป็นวาระแห่งชาติ นำความหลากหลายทางชีวภาพและวัฒนธรรมที่เป็นข้อได้เปรียบของประเทศไทย มาใช้ในการสร้างมูลค่าเพิ่ม

โดยมีประเด็นขับเคลื่อนที่สำคัญคือ อนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติเพื่อความสมดุลของระบบนิเวศและเป็นฐานการพัฒนา ใช้ประโยชน์ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน เพื่อสร้างและกระจายรายได้อย่างเป็นธรรม ลดการใช้ทรัพยากร ลดขยะและของเสีย และมุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำและวิถีชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มีการจัดทำระบบทะเบียนคาร์บอนเครดิต เปิดตัวเเพลตฟอร์มการซื้อขายพลังงานสะอาดเเละคาร์บอนเครดิต การเพิ่มแหล่งกักเก็บและดูดกลับก๊าซเรือนกระจก ส่งเสริมการปลูกป่าและแบ่งปันคาร์บอนเครดิต ซึ่ง BCG Economy Model จะช่วยผลักดันประเทศในหลากหลายมิติ รวมถึงสนับสนุนการเติบโตทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม อย่างสมดุล.


เรียบเรียง : เจ๊ดา วิภาวดี
กราฟฟิก : Anon Chantanant