• ช่อง 3 เริ่มแล้วขยับปรับ Business Model ตอบสนองคนดูยุคใหม่
  • ละครไทยสร้างปรากฏการณ์ลง Netflix ฉายแบบ Date-Of-Broadcast ตามรอยเกาหลี
  • Content ละคร ไม่มีวันตาย แม้เรตติ้งขาลง แต่ทุกอย่างยังมีทางออก

ถ้าใครบอกว่า วงการทีวีกำลังจะตาย คำพูดนี้คงใจร้ายเกินไป เพราะถึงแม้การเปลี่ยนแปลงของโลกสู่ยุคดิจิทัลจะกระทบกับสื่อทีวีแบบเต็มๆ แต่หากแต่ละช่องรู้จักปรับตัว การมาของดิจิทัลจึงไม่ใช่ ดิจิทัล ดิสรัปชัน เสมอไป ดิจิทัลไม่ได้มาเพื่อโจมตีให้ทีวีล่มสลาย มองอีกมุมการมาของดิจิทัลถือเป็นโอกาสดีๆ ที่ช่องจะได้ปล่อยของ ปล่อย Content ที่อยู่ในมือไปทำรายได้กลับเข้ามาเรื่อยๆ

ถึงเวลาสื่อทีวีขยับปรับ Business Model

การเปลี่ยนไปของโลกการสื่อสารทำให้สื่อทีวีต้องปรับตัวขนานใหญ่ เพื่อให้ตอบสนองกับคนดู เพราะทุกวันนี้ทางเลือกในการหา Content ดูหลากหลายมาก (เน้นว่ามากกกกก) ไม่มีอีกแล้วที่คนจะมานั่งรอดูละครสองทุ่มครึ่ง คนจะดูเมื่อตัวเองอยากดูหรือพร้อมดู เพราะฉะนั้นแต่ละช่องต้องหาทางทำให้เนื้อหาของตัวเองมีให้ดูได้ทุกที่ทุกเวลา

ในเมื่อทีวีไม่ตอบโจทย์คนดูอีกต่อไป ช่องจึงต้องปรับด้วยการยัด Content ของตัวเองไปในทุกแพลตฟอร์มเพื่อเป็นโอกาสในการเสิร์ฟเนื้อหาถึงผู้บริโภคให้ครอบคลุม ไม่ว่าคนดูจะอยู่กับแฟลตฟอร์มไหนหันไปก็ต้องเจอ Content ของเรา

ช่องทีวีต้องไม่มองแพลตฟอร์มดิจิทัล ไม่ว่าจะโซเชียลมีเดียหรือสตรีมมิงเป็นคู่แข่ง แต่ควรจับมือแท็กทีมเป็นพันธมิตร ปรับ Business Model เพื่อหาทางเพิ่มรายได้ ขยายโอกาสในการดึงคนดูกลับมาดูเนื้อหาของตัวเอง

ซึ่งทุกวันนี้แต่ละช่องก็มีชาแนลของตัวเองในโซเชียลมีเดียกันหมดแล้ว แต่ดูเหมือนแค่นี้ยังไม่ใช่สิ่งที่เพียงพออีกต่อไป การหารายได้ไม่ควรหยุดอยู่แค่ภายในเมืองไทย การมองไกลสู่ตลาดสากลเริ่มเป็นโอกาสใหญ่ของช่องทีวีไทย โดยโฟกัสกันที่ตลาดอาเซียนก่อน

...

ช่อง 3 สร้างปรากฏการณ์ Date-Of-Broadcast

ช่อง 3 ไม่ใช่ช่องเดียวที่ส่งละครไทยลงสตรีมมิงยักษ์ใหญ่ของโลกอย่าง Netflix แต่การขยับตัวครั้งใหญ่ของตึกมาลีนนท์ ถือเป็นปรากฏการณ์ครั้งแรกของละครไทย เพราะช่อง 3 ปิดบิ๊กดีลสำเร็จ โดยเน็ตฟลิกซ์ซื้อละคร 6 เรื่องของช่อง 3 ไปฉายแบบ DOB (Date-Of-Broadcast) หรือการออนแอร์ใน Netflix แบบวันต่อวันพร้อมกันกับที่ฉายที่เมืองไทย แบบที่คนไทยคือตามดูซีรีส์เกาหลีอย่าง Vagabond, Crash Landing on You ฯลฯ โดยจะฉายไปในประเทศเอเชีย

ละคร 6 เรื่องที่ว่าก็คือ ให้รักพิพากษา (Dare to Love), ดวงตาที่สาม (I See Dead People), เกมล่าทรชน (Game of Outlaws), Help Me คุณผีช่วยด้วย (Help Me! Oh My Ghost), พิศวาสฆาตเกมส์ (The Deadly Affair) และ คุณหมีปาฏิหาริย์ (The Miracle of Teddy Bear)

โดย ให้รักพิพากษา (Dare to Love), ดวงตาที่สาม (I See Dead People), เกมล่าทรชน (Game of Outlaws), Help Me คุณผีช่วยด้วย (Help Me! Oh My Ghost), พิศวาสฆาตเกมส์ (The Deadly Affair) จะไปออกอากาศแบบวันต่อวันใน 10 ประเทศทั่วอาเซียน ได้แก่ ลาว กัมพูชา เมียนมา เวียดนาม ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย บรูไน สิงคโปร์ มาเลเซีย และติมอร์ตะวันออก

ส่วน คุณหมีปาฏิหาริย์ (The Miracle of Teddy Bear) จะออกอากาศแบบวันต่อวันใน Netflix กว่า 25 ประเทศในแถบเอเชีย

ทั้งหมดจะฉายภายใต้โมเดล DOB (Date-Of-Broadcast) ทำให้แฟนละครต่างประเทศได้ชมละครในแต่ละตอนในวันเดียวกัน หลังจากที่ในเมืองไทยออกอากาศจบไม่ถึง 2 ชั่วโมง

นายณัฐพร รุ่งขจรกลิ่น ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการ สำนักธุรกิจระหว่างประเทศ ได้เปิดเผยว่า “ข้อตกลงครั้งนี้ถือว่าเป็นการร่วมมือกับ Netflix เพื่อขยายฐานกลุ่มผู้ชมละครช่อง 3 ให้เป็นที่รู้จักในต่างประเทศมากขึ้น ซึ่งหวังว่าในอนาคตละครช่อง 3 จะได้รับการตอบรับจากผู้ชมต่างประเทศเป็นอย่างดี และสามารถสร้างกระแสความนิยมต่อเนื่องไปยังประเทศใหม่ๆ อีกเช่นกัน การประเดิมดีลใหญ่กับ Netflix ครั้งนี้จะนำร่องด้วยละครแนวโรแมนติกดราม่า ให้รักพิพากษา (Dare To Love)”

...

ว่ากันว่าดีลนี้ของช่อง 3 เกิดขึ้นจากความต้องการซื้อลิขสิทธิ์ Dare To Love ไปฉายแบบ DOB (Date-Of-Broadcast) ที่ Netflix เล็งแล้วว่าเรื่องนี้มาแรงแน่ ก่อนที่จะจบดีลด้วยอีก 5 เรื่องที่ถูกซื้อไปฉายด้วย

“ละคร” เรตติ้งขาลง แต่สตรีมมิงขาขึ้น

ที่ผ่านมา Netflix ซื้อละครช่อง 3 ไปฉายเฉพาะในรูปแบบซื้อเมื่อละครจบแล้ว ซึ่งราคาจะต่างจากครั้งนี้ที่ Netflix ซื้อละครใหม่ในรูปแบบ DOB (Date-Of-Broadcast) ฉายคู่ขนานกับที่ไทยแบบวันต่อวัน แน่นอนดีลครั้งนี้ราคาต้องไม่ธรรมดาหลัก 9-10 หลัก สูงกว่าการซื้อไปฉายหลังละครจบแบบเดิมลิบลับ

นี่เป็นบทพิสูจน์ว่า “ละคร” ที่ใครคิดว่าจะตาย แต่จริงๆ แล้ว ละครก็ไม่ต่างกับ Evergreen Content ที่สร้างมาหนึ่งครั้งแต่ใช้นำมาหารายได้แบบยาวๆ อาจจะไม่ถึงกับ Timeless แต่ก็ใช้สร้างรายได้ได้ระยะยาว และแน่นอนช่องคือผู้ถือลิขสิทธิ์ละคร รายได้จากการขายลิขสิทธิ์จึงเป็นอีกโมเดลการสร้างรายได้ให้ช่องในยุคที่เรตติ้งโทรทัศน์ฝืดเคือง

...

เคยมีคนงงใจว่าทำไมหลายช่องดิจิทัลยังสู้ทำละครอยู่แม้เรตติ้งจะอยู่แค่ 1-0 ดีลของช่อง 3 กับ Netflix คือคำตอบ เพราะละครเป็น Content ที่สามารถแปลงเป็นรายได้ได้ดีในระยะยาว

ข้อมูลจากคนวงการโทรทัศน์บอกกับเราว่า บางช่องที่ไม่ใช่ช่องใหญ่มากสามารถสร้างรายได้แบบที่เลี้ยงตัวเองได้จากลิขสิทธิ์ละครที่ขายให้กับ streaming แค่เจ้าเดียวแบบเนื้อๆ เน้นๆ บางช่องเน้นขายถูกแต่ขายให้กับ streaming หลายเจ้ารับเงินอื้อซ่าประคองตัวเองจากรายได้ตรงนี้สบายๆ

บางช่องจ่ายผู้จัดฯ ผลิตละครแบบเหมาๆ 30 ล้านบาทต่อเรื่อง แต่เมื่อขายลิขสิทธิ์ให้ streaming แล้ว หลายการจัดการถูกส่งกลับมาให้ผู้จัดฯ รับผิดชอบโดยไม่ได้บัดเจตเพิ่ม งานนี้ช่องรับเนื้อๆ แต่ผู้จัดฯ เริ่มบ่นกันอุบ แต่ก็ต้องถือว่าช่วยๆ กันไป เพราะหากช่องไม่มีรายได้ผู้จัดฯ ก็คงอยู่ไม่ได้

เอาเป็นว่าอย่างที่บอกใครที่เคยคิดว่าละครจะตาย ให้คิดใหม่ เพราะหากดูในระบบเรตติ้งอาจจะตาย แต่ละครกำลังอยู่ในช่วงขาขึ้นของการสร้างรายได้จาก streaming ที่ผุดขึ้นมาเป็นดอกเห็ด

ช่อง 3 ทำให้เห็นแล้วว่า เรตติ้งไม่ใช่คำตอบเสมอไป รูปแบบธุรกิจใหม่ๆ ต่างหากคือคำตอบ สื่อทีวีต้องปรับตัวเอง วิ่งเข้าหาผู้ชมในแพลตฟอร์มอื่นๆ ขยายโอกาสสร้างรายได้.

เรื่อง : ดินสอเขียนฟ้า

ภาพ : Varanya Phae-araya

...