รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นเจ้าภาพในการจัดประชุม ACD Summit กรอบความร่วมมือในเอเชีย ซึ่งเป็นการประชุมต่อเนื่องกันมาตั้งแต่ สมัยรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ที่ต้องการให้เกิดความเชื่อมโยงระหว่างประเทศโดยเฉพาะทางด้านเศรษฐกิจ ที่เข้าสู่ยุคของอีคอมเมิร์ซอย่างเต็มรูปแบบ และต้องยอมรับความจริงว่า สมัย รัฐบาลทักษิณ ในยุคแรกๆที่มี สุรเกียรติ์ เสถียรไทย เป็น รมว.ต่างประเทศ มีนโยบายต่างประเทศที่ก้าวล้ำหน้าไปมาก
ต้องยอมรับความจริงอีกอย่างว่า ประเทศไทยกำลังวิ่งตามเทคโนโลยี การประกาศนำประเทศเข้าสู่เศรษฐกิจ ดิจิทัล อีโคโนมี ประกาศความเป็น ประเทศไทย 4.0 ท่ามกลางความไม่พร้อมในด้านเทคโนโลยีแม้แต่ด้านเดียว ไม่ว่าจะเป็น ความรู้ หรือผู้ผลิต ไทยแลนด์ 4.0 จึงยังครึ่งๆกลางๆ เช่น นโยบาย อินเตอร์เน็ตหมู่บ้าน ที่ตั้งงบประมาณไว้ 15,000 ล้านบาท จู่ๆจะลงไปสู่หมู่บ้านตำบลทั่วประเทศ โดยไม่มีโครงสร้างพื้นฐานรองรับ นอกจากจะเป็นการ ขี่ช้างจับตั๊กแตน แล้ว ยังเสี่ยงที่จะทำผิดระเบียบอีกด้วย ไม่เช่นนั้น สตง. คงไม่ทำเรี่องคัดค้านโครงการนี้
การมีวิสัยทัศน์ในการมองให้ไกลได้เท่าไรก็จะเป็นความได้เปรียบและลดความเสี่ยง นำประเทศไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนในอนาคต ยกตัวอย่างใครจะไปคิดว่า ราคาน้ำมัน ซึ่งเป็นทรัพยากรที่มีค่าและมีความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจมากที่สุดจะค่อยๆหมดความสำคัญลง เช่นเดียวกับ สื่อกระดาษ ที่เคยรุ่งเรืองในอดีตจะถูกกลบมิดจาก สื่ออิเล็กทรอนิกส์ ทุกอย่างมีขึ้นมีลงเสมอ
ก๊าซธรรมชาติ น้ำมันเป็นทรัพยากรที่ใช้แล้วหมดไป สถานการณ์ราคาน้ำมันที่สรุปแนวโน้มโดย ทีมวิเคราะห์ตลาดต่างประเทศ ปตท. ที่ผ่านมาราคาน้ำมันดิบในตลาดเบรนท์เพิ่มขึ้นที่ 1.85 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ราคาน้ำมันดิบที่ดูไบเพิ่มขึ้น 0.55 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ราคาน้ำมันดิบที่เวสท์เท็กซัสเพิ่มขึ้น 2.04 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
...
เวลาเดียวกัน ประเทศกลุ่มโอเปก ได้ลดปริมาณการผลิตจากวันละ 33.2 ล้านบาร์เรลเป็น 32.5-33 ล้านบาร์เรล เพื่อลดอุปทานส่วนเกิน รักษาดุลอุปสงค์ อุปทานของราคาน้ำมันในตลาดโลกเอาไว้นั่นหมายถึงความต้องการใช้น้ำมันและราคาน้ำมันที่จะต้องสมดุลกัน
นอกจากนี้ น้ำมันยังมีปัจจัยผลกระทบด้านอื่นๆไม่ว่าจะเป็นการหยุดประท้วง สงคราม ความมั่นคงระหว่างประเทศ ทำให้เกิดความไม่แน่นอนและไม่มีเสถียรภาพ การผลิตน้ำมันลดลง ราคาน้ำมันเพิ่มขึ้นในขณะที่ความต้องการใช้น้ำมันลดลง โดยมีการนำพลังงานทดแทนอื่นๆมาใช้เพื่อรองรับกับความเปลี่่ยนแปลงของโลกในอนาคตที่วันหนึ่งน้ำมันอาจจะหมดไปจากโลกและมนุษย์จะเริ่มตระหนัก หันมาใช้ชีวิตอยู่กับธรรมชาติมากขึ้น
เวลานี้ ประเทศในตะวันออกกลาง หลายประเทศที่เป็นเศรษฐีน้ำมันหันมาสนใจการเกษตรมากขึ้น ปลูกข้าวกินเอง เพราะรู้ดีว่าวันหนึ่งน้ำมันจะไม่ใช่สินค้าเศรษฐกิจอีกต่อไป แต่ข้าวคือสินค้าเศรษฐกิจที่ยั่งยืนและมีมูลค่า
ประเทศไทยที่มีภูมิศาสตร์และประวัติศาสตร์การเกษตรที่รุ่งเรือง กำลังจะเปลี่ยนตัวเองเป็นไทยแลนด์ 4.0 ทอดทิ้งสิ่งที่ถนัดและมีความสำคัญกับโลกในอนาคต เป็นการเดินทางถูกทางหรือไม่ ขึ้นอยู่กับวิสัยทัศน์ของผู้นำ.
หมัดเหล็ก
mudlek@hotmail.com