ทีมงานเปิดเลนส์ส่องโลกมีโอกาสเดินทางข้ามจุดผ่อนปรนพิเศษด่านสิงขร อำเภอเมือง จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เข้าไปที่ด่านพรมแดนถาวรมูด่องของสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา เดินทางอีก 100 กิโลเมตรก็ถึงตัวเมืองตะนาวศรี และต่อไปอีก 80 กิโลเมตรถึงตัวเมืองมะริด ถนนทั้ง 180 กิโลเมตร บางช่วงกว้าง 8 เมตร บางช่วงกว้าง 12 เมตร
รัฐบาลเมียนมาสร้างเส้นทาง 80 กิโลเมตรจากเมืองมะริดถึงเมืองตะนาวศรีให้เท่านั้น ส่วนระยะทางอีก 100 กิโลเมตร จากเมืองตะนาวศรีจนถึงชายแดนไทยที่ด่านสิงขร รัฐบาลเมียนมาไปกู้เงินจากรัฐบาลจีน 1,800 ล้านเหรียญสหรัฐฯมาสร้าง แต่หอการค้าและสภาอุตสาหกรรมเมืองมะริดจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบในการผ่อนชำระ
การเดินทางในครั้งนั้น ทีมงานเดินทางไปพร้อมกับนายอำเภอชาตรี จันทร์วีระชัย และชาวกุยบุรีอีก 30 คน เพื่อศึกษาเส้นทางข้ามคาบสมุทรช่องสิงขร ไม่น่าเชื่อนะครับว่า สินค้ายอดนิยมที่คนเมียนมามาซื้อที่ตลาดด่านสิงขรเป็นพวกดอกไม้และกล้วยไม้ที่ชาวเมียนมาซื้อไปถวายพระ นอกนั้นก็เป็นสินค้าอุปโภคบริโภค สินค้าของเมียนมาที่นำเข้ามาขายก็เป็นพวกเครื่องประดับ หยก พลอย เครื่องประทินผิว และเฟอร์นิเจอร์
ฝั่งเมียนมามีด่านพรมแดนถาวร ส่วนฝั่งไทยเป็นแค่จุดผ่อน ปรนพิเศษทางการค้า ยังไม่เปิดเป็นด่านพรมแดนถาวรเพราะติดปัญหาเรื่องเขตปักปันพื้นที่ชายแดนอีกประมาณ 100 เมตรที่ยังระบุเขตไม่ได้ ทำให้บริเวณนี้เป็น No man’s land ผมเองอยากให้มีข้อตกลงร่วมกันระหว่างไทยกับเมียนมาไวๆครับ ด่านสิงขรจะได้เป็นด่านพรมแดนถาวรซะที
ย้อนหลังกลับไปประมาณหลายร้อยปี มีเส้นทางประวัติศาสตร์ทางการค้าระดับโลก ที่พ่อค้าอาหรับ อิหร่าน และอินเดียขนของจากมหาสมุทรอินเดียมาขึ้นที่เมียนมาและขนทางบกมายังอ่าวไทย มหาสมุทรแปซิฟิก เพื่อขนของไปเมืองจีนโดยไม่ต้องไปอ้อมแหลมมลายู เส้นทางนี้เงียบเหงาไปนาน แต่ปลายปีหน้าเมื่อมีการปรับปรุงพัฒนาเส้นทางเสร็จผมว่าก็น่าจะเป็นอีกเส้นทางหนึ่งที่กลับมามีความสำคัญทางเศรษฐกิจอีกครั้ง
...
ตอนที่ทีมงานเปิดเลนส์ส่องโลกเดินทางไปเยือน จากชายแดนสิงขรถึงตัวเมืองตะนาวศรี ระยะทาง 100 กิโลเมตรนั้น ต้องใช้เวลาเดินทางเกือบ 4 ชั่วโมง จุดพักรถมีเพียงแห่งเดียว ร้านอาหาร ห้องน้ำ ฯลฯ ก็ยังไม่ได้มาตรฐาน เมื่อเส้นทางเสร็จ ผมว่าก็เป็นโอกาสสำหรับนักลงทุนรายย่อยๆ ที่จะไปสร้างสถานีบริการน้ำมัน ร้านอาหาร ร้านค้า ไปจนถึงโรงแรมขนาดเล็ก ฯลฯ
เส้นทางสายตะนาวศรี–มะริด 80 กิโลเมตรก็มีโอกาสเช่นเดียวกันนะครับ มะริดเป็นเมืองขนาดใหญ่ที่มีศักยภาพด้านการประมงและอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวสูง มะริดเมืองเดียวมีเกาะแก่งต่างๆ มากมายถึง 800 แห่ง แต่ละปีก็จับสัตว์น้ำได้มากกว่าแสนตัน มูลค่าส่งออกสัตว์น้ำมากถึงปีละ 530 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ที่เราชาวไทยต้องให้ความสำคัญกับเมืองนี้ เพราะมะริดเพียงเมืองเดียวเป็นแหล่งป้อนวัตถุดิบอาหารทะเลให้กับประเทศไทยถึงร้อยละ 80 โรงงานแปรรูปอาหารทะเลในมะริดตอนนี้มีมากถึง 10 แห่ง แช่แข็งอาหารทะเลได้มากถึง 1,000 ตัน
นอกจากความสมบูรณ์ของสัตว์น้ำในทะเลแล้ว ที่มะริดยังส่งเสริมการทำประมงชายฝั่งและการเลี้ยงสัตว์น้ำ มีการเลี้ยงปลาเก๋าในทะเล ฟาร์มเลี้ยงหอยมุก ส่วนฟาร์มปูนิ่มก็มีเยอะครับ หลายแห่งได้รับรองคุณภาพ GAP เลี้ยง 35 วัน ปูก็เริ่มลอกคราบ ก็ต้องรีบจับมาขาย นะครับ เพราะถ้าปูลอกคราบเกิน 6 ชั่วโมง กระดองก็จะแข็งเอามาทำปูนิ่มไม่ได้
มะริดมีประชากรมากกว่า 6 แสนคน มีเรือประมงขนาดใหญ่ 723 ลำ เรือขนาดเล็กมากกว่า 5,000 ลำ มีอู่ต่อเรือและซ่อมเรือหลายแห่ง ตอนนี้ก็ขยายท่าเรือและตั้งเขตนิคมอุตสาหกรรม นอกจากมะริดจะสำคัญกับจังหวัดประจวบคีรีขันธ์แล้ว กับจังหวัดระนองก็สำคัญนะครับ เพราะสัตว์น้ำที่จับได้จากมะริดส่วนใหญ่ส่งออกไปทางระนอง สำหรับมาที่ประจวบคีรีขันธ์ การขนส่งในปัจจุบันยังไม่สะดวก
ปลาย พ.ศ.2560 เส้นทางโบราณสายหนึ่งจะได้รับการปรับปรุงให้เดินทางได้สะดวกขึ้น รวดเร็วขึ้น นักธุรกิจเมียนมาและนักธุรกิจชาติอื่นในประชาคมอาเซียนต่างกระโจนเข้าไปหาความรู้และหาโอกาสทางการค้าและการลงทุน ผมขออนุญาตแนะนำนักธุรกิจไทยให้หาโอกาสไปทดลองเดินทางดูบ้าง อย่าให้ได้ชื่อว่า ใกล้เกลือกินด่างครับ.