กลุ่มกิจการร่วมค้าฯ ยื่น ป.ป.ช.สอบ “ประพัฒน์” กับพวก โยก “อภิชัย” นั่งอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ แลกให้ล้มโครงการคลองด่านเป็นโมฆะ งัดหลักฐานคำสั่งชดใช้ค่าเสียหาย มัดผิด ยื่นศาลปกครองถอนคำสั่ง ปปง.อายัดจ่ายค่าเสียหาย งวด 2-3 ให้เอกชน

วันที่ 13 ก.ค. ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) นายไพสิฐ อิ่มเจริญกุล ทนายความผู้รับมอบอำนาจจากกลุ่มกิจการร่วมค้า เอ็นวีพีเอสเคจี ยื่นเรื่องต่อ ป.ป.ช.ตรวจสอบ นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ อดีต รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายอภิชัย ชวเจริญพันธ์ อดีตอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ รวมทั้ง อดีตคณะกรรมการตรวจสอบและเสนอแนะการบริหารสัญญาโครงการจัดการน้ำเสียเขตควบคุมมลพิษ จ.สมุทรปราการ กรณีเป็นเจ้าพนักงานใช้อำนาจในตำแหน่งมิชอบ ข่มขู่ หรือ จูงใจ เพื่อให้บุคคลใดมอบให้หรือหามาให้ซึ่งทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดแก่ตนเอง และเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 148 และมาตรา 157

คำร้องระบุว่า การที่นายประพัฒน์ ใช้อำนาจในฐานะ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติฯ มิชอบ โดยย้าย นายอภิชัย จากรองเลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มาดำรงตำแหน่ง อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ เป็นการนำตำแหน่งหน้าที่ทางราชการจูงใจให้ นายอภิชัย ทำตามความต้องการของตัวเอง เพื่อประโยชน์พรรคการเมืองที่ตนเองสังกัดอยู่ เพื่อทำให้สัญญาโครงการบำบัดน้ำเสียคลองด่าน ที่ดำเนินการไปแล้ว 98% และมีการจ่ายเงินดำเนินโครงการไปแล้วหมื่นกว่าล้านบาท ต้องเป็นโมฆะ ถูกทิ้งจมดินโดยไม่มีประโยชน์ในขณะที่คณะกรรมการตรวจสอบ และเสนอแนะได้ร่วมสนองนโยบายมิชอบของ นายประพัฒน์ ด้วยการมีมติให้สัญญาเป็นโมฆะ จนเป็นเหตุให้กรมควบคุมมลพิษถูกกิจการร่วมค้าฯ ฟ้อง และเกิดความเสียหายเกือบหมื่นล้านบาท

...

นายไพสิฐ กล่าวว่า หลักฐานสำคัญที่นำมายื่นประกอบ คือ คำสั่งกรมควบคุมมลพิษ ที่ให้บุคคลที่เกี่ยวข้องต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ซึ่งเป็นความเห็นของคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดแก่เจ้าหน้าที่ตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด รวมถึงคำให้สัมภาษณ์และคำเบิกความของนายประพัฒน์ ในชั้นศาลซึ่งค่อนข้างชัดเจน

นายไพสิฐ กล่าวว่า ส่วนกรณีกลุ่มกิจการร่วมค้าฯ ถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) อายัดการจ่ายเงินชดเชย งวดที่ 2 และ 3 เนื่องจากมีการทุจริตในโครงการนั้น ถือเป็นเรื่องไม่เป็นธรรม ซึ่งกิจการร่วมค้าฯ ได้ยื่นคำฟ้องต่อศาลปกครองกลาง เพื่อขอให้เพิกถอนคำสั่งดังกล่าวแล้ว เนื่องจากเงินที่ ปปง.อายัด ไม่ใช่เงินที่เกิดจากการทำธุรกรรม แต่เป็นเงินที่ได้รับชำระตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดและมติ ครม. จึงไม่อยู่ในอำนาจ ปปง. ที่จะยึดหรืออายัดตาม พ.ร.บ.ปปง. เพราะ ไม่ใช่เงินที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด.