ผลการสำรวจความเห็นตัวอย่างคนไทยทั้งประเทศ จะพบว่าคนส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับการตั้งศูนย์ปราบโกงประชามติของ นปช. ควรปล่อยให้เป็นหน้าที่ของรัฐ หรือเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง แต่คนส่วนใหญ่ก็ไม่แน่ใจว่าการลงประชามติจะมีการโกงหรือไม่ และไม่เชื่อมั่นว่ารัฐบาล หรือหน่วยงานที่เกี่ยว ข้องจะจัดการให้การออกเสียงประชามติจะโปร่งใสมากน้อยเพียงใด?

ผลการสำรวจความเห็นประชาชน โดยสวนดุสิตโพล กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 85.40 ระบุว่าประชาชนต้องออกมาใช้สิทธิ ร้อยละ 80.05 เจ้าหน้าที่ต้องปฏิบัติหน้าที่ตรงไปตรงมา ร้อยละ 78.10 ต้องมีระบบตรวจสอบที่ดี มีบทลงโทษเด็ดขาด ร้อยละ 78.59 เห็นว่าควรเปิดโอกาสรับฟังความคิดเห็นทุกฝ่าย ร้อยละ 75.67 เห็นว่าต้องโปร่งใส ยุติธรรมและตรวจสอบได้

ความเห็นที่ว่าควรเปิดรับฟังความคิดเห็นทุกฝ่าย สอดคล้องกับคำกล่าวของประธาน กกต. บนเวทีชี้แจงร่างรัฐธรรมนูญ ที่จังหวัดเชียงใหม่ ที่ว่าปัจจัยที่จะทำให้การออกเสียงเป็นไปโดยบริสุทธิ์ สุจริตและเที่ยงธรรม ต้องมาจากความต้องการที่แท้จริงของประชาชน ผู้ออกเสียงที่มีความรู้ความเข้าใจอย่างรอบด้าน จึงจะตัดสินใจด้วยจิตสำนึกที่เป็นอิสระอย่างแท้จริง

เป็นคำกล่าวที่เป็นไปในแนวทางเดียวกันกับ กกต.ท่านหนึ่งซึ่งยืนยันว่าการแสดงความเห็น “ไม่รับ” ร่างรัฐธรรมนูญ ไม่ถือว่าผิด ถ้าไม่บิดเบือนหรือหลอกลวง แต่ กกต.อีกท่านหนึ่งกล่าวว่า การที่ระดับแกนนำของพรรคเพื่อไทย โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก “ไม่รับ” ร่างรัฐธรรมนูญ ทำได้ถ้าเป็นการแสดงความเห็นส่วนตัว แต่ถ้าทำในนามพรรค อาจขัดคำสั่ง คสช.มีโทษหนักถึงขั้นยุบพรรค

เกี่ยวกับเรื่องเดียวกัน กรรมการร่างรัฐธรรมนูญท่านหนึ่งกล่าวว่า การแสดงความคิดเห็นส่วนตัวคงจะไม่ผิดกฎหมาย แต่ขอเตือนว่า “อย่าไปชี้นำและโน้มน้าวประ-ชาชน” คำกล่าวและความเห็นทั้งหมดนี้แสดงว่าภาครัฐยังยืนยันห้ามพรรคการเมืองแสดงความคิดเห็นและห้ามบุคคลรณรงค์ชี้นำหรือโน้มน้าวประชาชนทั้งๆที่ไม่มีบท บัญญัติห้ามไว้ในกฎหมาย

...

มาตรา 7 ของ พ.ร.บ.ประชามติ ระบุว่า “บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและเผยแพร่ความคิดเห็นโดยสุจริตและไม่ขัดต่อกฎหมาย” แต่มาตรา 61 ห้ามเผยแพร่ข้อความที่ไม่ตรงกับข้อเท็จจริงหรือมีลักษณะรุนแรง ก้าวร้าว หยาบคาย ปลุกระดมหรือข่มขู่ ไม่มีข้อห้ามรณรงค์ ชี้นำ หรือแสดงความเห็นว่าจะรับหรือไม่รับ จึงน่าสงสัยว่ามีการขยายความกฎหมายหรือไม่?

เป็นเรื่องที่เถียงกันไม่รู้จบ จน กว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยตามคำร้องขอของคณะนักวิชาการและนักสิทธิมนุษยชนที่สงสัยว่าบางประเด็นของ พ.ร.บ.ประชามติ ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่? รวมทั้งการตีความของเจ้าหน้าที่รัฐที่มีแนวโน้มปิดกั้นการแสดงความคิดเห็นทั้งๆที่รัฐธรรมนูญเขียนไว้ชัด คุ้มครองสิทธิเสรีภาพ บรรดาที่ชาวไทยเคยได้รับตามประเพณีประชาธิปไตยของไทย.