(ภาพ: REUTERS)

กลุ่มรัฐมนตรีการค้าจาก 12 ประเทศที่เป็นภาคี “ข้อตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก” (ทีพีพี) ประกอบด้วย ออสเตรเลีย บรูไนฯ แคนาดา ชิลี ญี่ปุ่น มาเลเซีย เม็กซิโก นิวซีแลนด์ เปรู สิงคโปร์ สหรัฐฯ และเวียดนาม ร่วมลงนามข้อตกลงทีพีพีกันแล้ว ที่เมืองโอ๊กแลนด์ของนิวซีแลนด์ เมื่อ 4 ก.พ. ท่ามกลางการชุมนุมประท้วงของกลุ่มต่อต้านทั้งที่ด้านหน้าสถานที่จัดพิธีลงนาม และที่กรุง เวลลิงตัน นครหลวงของนิวซีแลนด์ โดยข้อตกลงทีพีพีตั้งเป้าส่งเสริมและเปิดเสรีการค้า ภาคการบริการและการลงทุนระหว่างรัฐภาคีซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจรวมกันราวร้อยละ 40 ของทั้งโลก แต่อีกนัยก็ถูกมอง ว่าเป็นหนึ่งในนโยบาย “ปักหมุดเอเชีย” ของประธานาธิบดีบารัค โอบามา ของสหรัฐฯ เพื่อสกัดการ แผ่ขยายอิทธิพลของจีนทั้งด้านเศรษฐกิจและการเมืองการทหารในภูมิภาค

ทั้งนี้ แม้ทีพีพีจะได้รับการสนับสนุนจากภาคธุรกิจชั้นนำและผู้นำการเมืองระดับบนในกลุ่มชาติรัฐภาคี แต่เสียงต่อต้านก็มีไม่น้อย เพราะมองว่าทีพีพีจะกัดกร่อนอำนาจอธิปไตยของชาติและให้อำนาจกลุ่มบริษัทนายทุนขนาดใหญ่ของสหรัฐฯมากเกินไป กลุ่มธุรกิจขนาดเล็กและเกษตรกรต้องแบกรับความกดดันที่ต้องแข่งกับสินค้านำเข้าราคาถูกจากต่างประเทศ

ประธานาธิบดีบารัค โอบามา ของสหรัฐฯ แถลงหลังพิธีลงนามที่นิวซีแลนด์ ว่า ทีพีพีเปิดทาง ให้สหรัฐฯไม่ใช่กลุ่มประเทศอย่างจีนที่จะร่างกฎระเบียบโลกในศตวรรษที่ 21 อย่างไรก็ดี เพื่อเป็นการลดโทนวาทกรรมต่อต้านจีนไม่ให้ชัดแจ้งจนเกินไป นายไมเคิล โฟรแมน ผู้แทนการค้าของสหรัฐฯ ระบุต่อมาว่า ข้อตกลงทีพีพีไม่ได้มีเพื่อต่อต้านประเทศใดประเทศหนึ่งโดยเฉพาะ และยังสำคัญยิ่งที่ต้องผูกสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจอย่างสร้างสรรค์กับจีน

...

ขณะที่จีนยังคงไม่มีท่าทีใดๆกับข้อตกลงทีพีพี ระบุเพียงว่า เจ้าหน้าที่จีนกำลังศึกษารายละเอียดเอกสารข้อตกลงทีพีพีที่มีกว่า 6,000 หน้า ด้านกระทรวงพาณิชย์ของจีนแถลงว่า จีนจะเข้าร่วมอย่างแข็งขัน และช่วยส่งเสริมข้อตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ในภูมิภาคให้โปร่งใส เปิดกว้างและครอบคลุม

ส่วนขั้นตอนต่อไปก่อนข้อตกลงทีพีพีมีผลใช้บังคับ แต่ละชาติรัฐภาคีต้องให้สัตยาบันผ่านกระบวนการการเมืองภายในของตน ซึ่งอาจไม่ง่ายสำหรับบางประเทศ โดยเฉพาะสหรัฐฯ ซึ่งนักการเมืองฝ่ายค้าน รีพับลิกันหลายคน รวมทั้งนายมิตช์ แม็คคอนเนล ผู้นำเสียงข้างมากในวุฒิสภายังไม่มีทีท่าสนับสนุนและยังเสนอด้วยว่าไม่ควรลงมติเพื่อให้สัตยาบันจนกว่าจะผ่านศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯช่วงเดือน พ.ย.ไปแล้ว.