ปริศนาของสามเหลี่ยมเบอร์มิวดาที่ค้างคาใจของมวลมนุษยชาติมาเป็นเวลานานอาจจะได้รับการคลี่คลายในเร็ววัน โดยนักวิทยาศาสตรอังกฤษได้ตั้งสมมติฐานขึ้นมาอธิบายสาเหตุที่ทำให้เรือและเครื่องบินหายไปจากน่านน้ำแห่งนี้...

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า พื้นที่บริเวณระหว่างแหลมฟลอริดา เปอร์โตริโก และเกาะเบอร์มิวดา พื้นที่ในเขตสามเหลี่ยมเบอร์มิวดา หรือ “สามเหลี่ยมปิศาจ” (Devil’s Triangle) ที่ได้กลืนเรือ เครื่องบิน ให้หายสาบสูญไปอย่างไร้คำอธิบายเป็นปริศนาน่าพิศวง หรือกล่าวกันว่าเป็นปรากฏการณ์เหนือธรรมชาติ นักวิทยาศาสตร์ของอังกฤษระบุเอาไว้ในนิตยสารวิทยาศาสตร์และอนาคต (Magazine Science et Avenir) ว่าได้สังเกตปรากฏการณ์ที่ปล่องหลุมขนาดยักษ์ที่ไซบีเรีย ซึ่งอาจนำไปสู่การไขความลับของสามเหลี่ยมเบอร์มิวดา

การเกิดปล่องหลุมขนาดยักษ์ที่บริเวณคาบสมุทรยามัล (Yamal Peninsular) โดยไร้ต้นสายปลายเหตุมาเป็นระยะเวลาหนึ่งแล้วนั้น มีสาเหตุจากรอยแยกของน้ำแข็งภายใต้พื้นทะเลที่บริเวณตอนใต้ของทะเลคารา ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของไซบีเรีย ทิศเหนือติดกับมหาสมุทรอาร์กติก ทิศตะวันตกติดกับทะเลแบเร็นตส์ ทิศตะวันออกติดกับทะเลลัปเตฟ มีเนินสองเนินลึกลงไปในน้ำ 40 เมตร เนินดังกล่าวพร้อมที่จะระเบิดได้ทุกเมื่อและปลดปล่อยฟองก๊าซมีเทนขนาดมหึมา

ดังนั้น การก่อตัวของก๊าซมีเทนจะทำให้ความหนาแน่นของน้ำลดลงและอาจจะส่งผลเกิดเหตุการณ์ “กลืน” อะไรก็ได้ที่โชคร้ายผ่านเข้ามาในบริเวณอันตรายในช่วงเวลาที่เกิดอุบัติการณ์ดังกล่าวพอดี

กรณีดังกล่าวอาจเกิดขึ้นที่บริเวณสามเหลี่ยมเบอร์มิวดา โดยนายอลัน จัดด์ (Alan Judd) นักธรณีวิทยาทางทะเลของมหาวิทยาลัยซันเดอร์แลนด์ (University of Sunderland) อธิบายว่า “ปกติแล้ว น้ำหนักเรือจะรองรับไว้ด้วยน้ำ ปริมาณของน้ำที่ถูกแทนที่ด้วยวัสดุที่มีน้ำหนักมากกว่า แต่ถ้าน้ำถูกแทนที่ด้วยก๊าซ คุณลักษณะของการรับน้ำหนักกับสิ่งที่แทนที่อยู่นั้นก็จะหมดไปทันทีทันใด”

...

การจำลองเหตุการณ์โดยใช้หุ่นจำลอง ทำให้สามารถยืนยันสมมติฐานดังกล่าวได้ ความหนาแน่นของก๊าซมีเทนจะทำให้เกิด “ช่องโหว่” กล่าวคือ เกิดขึ้นที่บริเวณใต้เรือก่อนที่จะจมลงในแนวดิ่งทันที สมมติฐานการเกิดก๊าซดังกล่าวทำให้นักวิจัยไม่สามารถคิดเป็นอย่างอื่นได้จากปฏิกิริยาของสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้อง

สมมติฐานดังกล่าวสามารถอธิบายได้กับเหตุการณ์ที่เกิดกับเครื่องบินได้เช่นกัน การเกิดก๊าซมีเทนอย่างหนาแน่นปริมาณมหึมาในอากาศอาจจะทำให้เกิดการแปรปรวนของสภาพอากาศอย่างกะทันหันและส่งผลกระทบกระเทือนการบินของเครื่องบินที่บินผ่านบริเวณดังกล่าวพอดี นั่นคือคำอธิบายของนักวิทยาศาสตร์ต่อปริศนาของสุสานกลางมหาสมุทรที่บริเวณสามเหลี่ยมเบอร์มิวดาอันลึกลับซับซ้อนมานมนานกาเลแล้วให้คลายความสงสัยไปได้