ดัชนีหุ้นไทยวันที่ 24 ส.ค.58 ปิดที่ 1,301.06 จุด ลดลง 64.55 จุด ทำ New low ในรอบประมาณ 1 ปี 6 เดือน จากวันที่ 11 ก.พ.ปี 57 ดัชนีอยู่ที่ 1,296.25 จุด ท่ามกลางมูลค่าการซื้อขาย 60,491.34 ล้านบาท
นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ 4,775.20 ล้านบาท สถาบันในประเทศขายสุทธิ 2,508.97 ล้านบาท ขณะที่รายย่อยซื้อสุทธิ 6,833.63 ล้านบาท และพอร์ตโบรกเกอร์ซื้อสุทธิ 450.54 ล้านบาท
หุ้นที่ซื้อขายสูงสุด PTT ปิด 240 บาท ลบ 25 บาท, AOT ปิด 254 บาท ลบ 11 บาท, KBANK ปิด 163.50 บาท ลบ 9 บาท, SCC ปิด 476 บาท ลบ 32 บาท และ JAS ปิด 5.10 บาท ลบ 0.10 บาท
บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) ชี้ว่าหุ้นไทยปรับตัวลงแรงตามทิศทางตลาดหุ้นทั่วโลก โดยมีแรงแพนิกขายออกมาอย่างหนักซึ่งมองว่าการปรับตัวที่รุนแรงครั้งนี้ไร้ปัจจัยพื้นฐานสนับสนุน เพราะไม่มีเหตุหรือปัจจัยพื้นฐานอะไรที่จะกดดัน จนทำให้ดัชนีร่วงลงแรงมากขนาดนี้ และไม่รู้ว่าเม็ดเงินไปอยู่ตลาดไหน เพราะตลาดหุ้นทั่วโลกต่างปรับตัวลดลงกันหมด ทั้งยุโรป เอเชีย สหรัฐฯ
อย่างไรก็ตาม มองว่าสาเหตุการปรับลงของตลาดหุ้นทั่วโลก อาจมาจากการใช้มาตรการ QE เม็ดเงินอัดฉีดเข้าระบบจำนวนมหาศาล จากธนาคารกลางทั่วโลก ทั้งสหรัฐฯ อังกฤษ หรือญี่ปุ่น จนทำให้ตลาดหุ้นเกิดภาวะฟองสบู่ในช่วงก่อนหน้านี้ เมื่อเกิดความเปราะบางหรือความไม่มั่นใจ จึงเกิดพฤติกรรมการเทขายหนีตายตลาดหุ้นของนักลงทุนทั่วโลก
กลยุทธ์การลงทุนแนะนำชะลอการลงทุน Wait&See บล.กสิกรไทยมองว่า มีความกังวลจากจุดเริ่มต้นจากปัญหาเศรษฐกิจจีนที่กดดันการลงทุนในตลาดหุ้น ส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ไปทั่วโลก ภาวะที่เกิดขึ้นรอบนี้เห็นได้ชัดว่านักลงทุนต่างตื่นตระหนกเทขายออกมา เพื่อปรับพอร์ตใหม่โดยถือสินทรัพย์เสี่ยงน้อยลง และถือเงินสดมากขึ้น หลังปัจจัยเสี่ยงในโลกเพิ่มขึ้น
ขณะที่ยังมองทิศทางตลาดระยะสั้นยังมีแนวโน้มขาลงต่อ โดยตั้งแต่ต้นปีดัชนีหุ้นไทยปรับตัวลงไปแล้วกว่า 12%
ด้าน บล.ทรีนีตี้ ประเมินกรณีเลวร้ายสุด หรือ Worst case ว่าดัชนีหุ้นรอบนี้ไว้ไม่น่าจะหลุดแนว 1,260-1,280 จุด เพราะที่ดัชนีระดับนี้จะมี Earning yield gap เข้าสู่ค่าเฉลี่ยระยะยาวที่ 5.5% จากปัจจุบันอยู่แถว 5.15% นั่นหมายความว่าหุ้นไทยจะมีความน่าสนใจมากขึ้นในสายตาของนักลงทุนต่างชาติ
อย่างไรก็ตาม มอง Sentiment ตลาดระยะสั้นยังแย่อยู่ ด้านเทคนิคให้แนวรับไว้ที่ 1,280-1,300 จุด ส่วนแนวต้าน 1,320 จุด!!
อินเด็กซ์ 51