เพื่อไทยร่อนแถลงการณ์ส่งคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ จวกแหลกเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญ ใหม่สืบทอดอำนาจรัฐประหารเป็นประชาธิปไตยจอมปลอม แฉเล่ห์ตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์ให้อำนาจล้นฟ้าทั้งนิติบัญญัติ-บริหาร หวังควบคุมรัฐบาลจากการเลือกตั้ง “ทักษิณ” โผล่ฟินแลนด์ปลุกประชาชนร่วมต้าน รธน.เรือแป๊ะ อัดเละเป็น รธน.เลวร้ายที่สุด ถล่มผู้มีอำนาจฉุดความเชื่อมั่นประเทศถอยหลัง ปชป.อ่านไต๋จงใจแก้ร่างใหม่ให้รัฐธรรมนูญถูกคว่ำ ยืดเวลาการทำงานรัฐบาล กมธ.ยกร่างฯแจงตั้งกรรมการยุทธศาสตร์ แก้ปัญหาสุญญากาศการเมือง หยุดวิกฤติประเทศ ตัดตอนรัฐประหาร “วิษณุ” ยกกฎหมายโต้ถอดยศ “ทักษิณ” ได้ แม้ไม่ได้เป็นตำรวจแล้ว แพลม 2 ช่องทางให้ สตช.-สำนักนายกรัฐมนตรีชงเรื่องยึดคืนเครื่องราชฯ

หลังจากที่คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เร่งพิจารณาทบทวนร่างรัฐธรรมนูญในช่วงโค้งสุดท้ายจนใกล้เสร็จสมบูรณ์ โดยมีการเพิ่มเติมเนื้อหาเรื่องการตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ จนถูกรุมต่อต้านจากหลายฝ่าย ล่าสุดพรรคเพื่อไทยได้ออกแถลงการณ์วิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยระบุว่า มีเนื้อหาสืบทอด อำนาจของคณะรัฐประหาร และเป็นประชาธิปไตยจอมปลอม

พท.ร่อนแถลงการณ์จวก รธน.ใหม่

เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม พรรคเพื่อไทยได้ออก แถลงการณ์ “ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อร่างรัฐธรรมนูญ” ลงนามโดย พล.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์ รักษาการหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ส่งถึงนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อแสดงความเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญ ระบุว่า จากการติดตามการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แม้ กมธ.ยกร่างฯจะปรับปรุงตามความคิดเห็นและคำขอแก้ไขจากพรรคเพื่อไทยและฝ่ายต่างๆ ในบางประเด็น แต่มีบทบัญญัติที่เป็นสาระสำคัญหลายส่วนมิได้แก้ไข และยังคงไม่ยอมรับว่า อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย มีลักษณะสืบทอดอำนาจรัฐประหาร นำไปสู่การที่ประเทศและประชาธิปไตยล้าหลัง ไม่สามารถแก้ปัญหาเศรษฐกิจและชีวิตของประชาชนได้ ที่สำคัญมิได้ก่อให้เกิดความปรองดองสมานฉันท์ ซึ่งเป็นปัญหาเฉพาะหน้าในปัจจุบันคณะ ทำงานฯ พรรคเพื่อไทยจึงขอย้ำเจตนารมณ์ เพื่อยืนยัน หลักการประชาธิปไตยที่พรรคยึดมั่น 2 ประเด็นได้แก่ 1.รัฐธรรมนูญต้องไม่มีลักษณะสืบทอดอำนาจของคณะรัฐประหาร ต้องเป็นประชาธิปไตยที่ยอมรับเสียงของประชาชน 2.รัฐธรรมนูญต้องไม่กีดกัน กลั่นแกล้งกลุ่มบุคคล หรือพรรคการเมืองใดในการเข้ามาสู่กระบวนการประชาธิปไตยและการตัดสินใจของประชาชน

...

ถล่มสืบทอดอำนาจ–ปชต.จอมปลอม

แถลงการณ์พรรคเพื่อไทยระบุว่า สาระสำคัญหลายส่วนในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ขัดแย้งต่อหลักการประชาธิปไตย จนเป็นที่ประจักษ์ว่า ความปรารถนาของประชาชนที่จะให้มีรัฐธรรมนูญที่มีเป็นประชาธิปไตย เสริมสร้างความปรองดองสมานฉันท์ ผลักดัน การปฏิรูปประเทศอย่างเป็นรูปธรรม คงไม่อาจเกิดขึ้น ได้ด้วยเหตุผลดังนี้ 1.ร่างรัฐธรรมนูญนี้ปูทางการสืบทอดอำนาจของคณะรัฐประหาร เป็นประชาธิปไตยจอมปลอม เสียงประชาชนไม่มีความหมาย เพราะกำหนดให้บุคคลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีได้ เปิดช่องให้มีการสืบทอดอำนาจเหมือนในอดีต ทั้งที่คนส่วนใหญ่ปรารถนาให้นายกฯมาจากการเลือกตั้ง

แฉใช้ กก.ยุทธศาสตร์คุมรัฐบาล

แถลงการณ์ยังระบุว่า ขณะที่การกำหนดให้มี ส.ว. 200 คน จากการเลือกตั้งจังหวัดละ 1 คน และจากการสรรหา 123 คน มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งสำคัญต่างๆ มีอำนาจอนุมัติกฎหมาย เป็นการไม่ให้ความสำคัญกับการที่กำหนดให้อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน โดยเฉพาะการกำหนดให้ ครม.ชุดปัจจุบันเป็นผู้สรรหา ส.ว.สรรหา เห็นได้ชัดเจน ถึงเจตนาสืบทอดอำนาจ แต่งตั้งพวกของตนเป็น ส.ว. โดยให้ ส.ว.สรรหาเป็นกลไกควบคุมตรวจสอบการบริหารราชการแผ่นดิน และเป็นกลไกแต่งตั้งคณะ กรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ เพื่อใช้ควบคุมรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน นับได้ว่ายิ่งร่างยิ่งเห็นธาตุแท้ของคณะ บุคคลเหล่านี้ ที่มีแนวคิดปฏิเสธอำนาจของประชาชนมาตลอด ทั้งนี้ การให้คณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯ สามารถใช้อำนาจนิติบัญญัติและบริหารสั่งการแก้ไขปัญหาของประเทศในยามวิกฤติได้ เป็นการนำองค์กร ที่ไม่ได้มีความเชื่อมโยงกับประชาชน มาควบคุมรัฐบาลจากการเลือกตั้ง เหมือนเป็นการยึดอำนาจจากประชาชน โดยวิธีการเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ สร้างองค์กรเสมือนเป็นซุปเปอร์บอร์ด มีอำนาจเหนือรัฐบาล ทำลายหลักกฎหมาย หลักการประชาธิปไตยและความชอบธรรมของระบบการเมือง

ใช้องค์กรอิสระกดหัวพรรคการเมือง

แถลงการณ์ระบุต่อไปว่า ส่วนการกำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญ องค์กรอิสระ ที่ถูกตั้งไว้ในช่วง รัฐประหาร มีอำนาจเหนือฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติภายหลังการเลือกตั้ง เป็นการตอกย้ำและขัดขวางการทำงานของรัฐบาลและสภาที่สืบเนื่องจากรัฐธรรมนูญปี 50 มุ่งหมายให้รัฐบาลและสภาอ่อนแอ ไม่สามารถทำงานเพื่อประชาชนตามนโยบายที่หาเสียงได้ และเพื่อบีบให้พรรคการเมืองส่วนหนึ่ง ต้องไปศิโรราบสนับสนุนให้บุคคลที่มิได้มาจากการเลือกตั้งจัดตั้งรัฐบาล

โวยตัดสิทธิตลอดชีพแรงเกินเหตุ

แถลงการณ์พรรคเพื่อไทยระบุว่า 2.การจำกัดสิทธิของผู้เคยถูกตัดสิทธิทางการเมือง หรือเคยถูก ถอดถอนออกจากตำแหน่งมาแล้วเข้าสู่ตำแหน่งทาง การเมือง เป็นการลงโทษซ้ำในความผิดที่เขาไม่ได้กระทำ แม้ กมธ.ยกร่างฯระบุว่า มิได้มุ่งหมายถึงบุคคล ที่เคยถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งในอดีต แต่เป็นที่ทราบกันดีสำหรับสังคมไทยว่า ศาลรัฐธรรมนูญได้ตีความบทบัญญัติลายลักษณ์อักษรที่ชัดแจ้งให้แตกต่างไปจากที่บัญญัติได้ เช่น กรณีตีความมาตรา 68 ของรัฐธรรมนูญปี 50 ทำให้ศาลรัฐธรรมนูญได้รับการวิพากษ์วิจารณ์ว่าตีความเกินรัฐธรรมนูญ ประชาชนเกิดความแคลงใจในมาตรฐานและความเป็นกลาง นอกจากนี้การห้ามผู้เคยถูกถอดถอนออกจากตำแหน่ง มิให้สมัครรับเลือกตั้งตลอดไป เป็นการตัดสิทธิเสรีภาพบุคคลทางการเมืองรุนแรงเกินกว่าเหตุ จึงไม่เห็น ด้วยเป็นอย่างยิ่ง ไม่ควรหมายรวมถึงผู้ถูกถอดถอนออกจากตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญโดยกระบวนการที่ไม่ปกติที่ผ่านมา มิฉะนั้นบทบัญญัติดังกล่าวก็มีขึ้น เพียงเพื่อสกัดกั้นบุคคลจากพรรคการเมืองหนึ่งพรรค การเมืองใดเป็นการเฉพาะ

หวั่นสร้างเงื่อนไขจุดวิกฤติรอบใหม่

คณะทำงานพรรคเพื่อไทยขอสรุปว่า ร่างรัฐธรรมนูญนี้ไม่เคารพ ไม่เชื่อมั่นในวิจารณญาณของประชาชนเจ้าของอำนาจอธิปไตย นำไปสู่รัฐบาลผสม ที่อ่อนแอ วางกลไกการบริหารจัดการประเทศที่รังแต่นำไปสู่ความล้มเหลวและความขัดแย้ง ขาดความน่า เชื่อถือในเวทีการเจรจาระหว่างประเทศ เป็นอุปสรรคต่อการลงทุนของต่างประเทศ เพราะไม่มีนักลงทุนใดกล้าลงทุนในประเทศที่รัฐบาลอ่อนแอ ไม่มีความต่อเนื่องของนโยบาย นอกจากนี้ ร่างรัฐธรรมนูญนี้สร้างเงื่อนไขอันจะนำไปสู่ความขัดแย้งขึ้นใหม่ มุ่งสืบทอดอำนาจของคณะรัฐประหารและกลุ่มที่สนับสนุน มิได้มีกรอบของการปฏิรูปที่ชัดเจน เป็น รัฐธรรมนูญที่ต้องการหยุดประชาธิปไตย ไม่ให้ประชาธิปไตยเป็นกลไกในแก้ปัญหาประเทศ ทำให้ประชาชนอ่อนแอ ประเทศไม่สามารถเดินหน้าต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ


“ทักษิณ” ปลุกต้าน รธน.เรือแป๊ะ

วันเดียวกัน มีการเผยแพร่คลิป พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ผ่านเว็บไซต์ยูทูบ หัวข้อ “คลิปล่าสุดอดีตนายกฯทักษิณ ชินวัตร พูดที่ประเทศฟินแลนด์” เมื่อวันที่ 14 ส.ค.ที่ผ่านมา โดย พ.ต.ท.ทักษิณกล่าวตอนหนึ่งว่า ถ้าถามว่าวันนี้บ้านเมืองเราเป็นอย่างไร ถือว่าเป็นสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุดนับตั้งแต่ตั้งประเทศ ไทยมา ทั้งที่ความจริงบ้านเมืองเราพัฒนาไปเยอะแล้ว แต่สิบกว่าปีมานี้ถือว่าถอยหลัง ขณะเดียวกัน อาจเห็นว่าบ้านเมืองมีความปรองดอง แต่ความจริงยังไม่ใช่ เศรษฐกิจในวันนี้ก็รู้กันแล้วว่า ผู้มีอำนาจไม่ได้สนใจใดๆ สนใจแต่เรื่องเล็กๆ พี่น้องประชาชนไม่ได้รับการดูแลอย่างทั่วถึง โดยเฉพาะคนที่มีอาชีพด้านเกษตรกร ผู้ใช้แรงงาน ค่อนข้างจะ ถูกละเลย เศรษฐกิจขณะนี้มีความน่าเป็นห่วง ความเชื่อมั่นและความเชื่อถือในประเทศไทยเสียหายมาก เพราะว่าผู้มีอำนาจเอาประเทศเราไปเล่นอะไรก็ไม่รู้ และกำลังนำประเทศไทยกลับเข้าสู่อดีต หากรัฐธรรมนูญฉบับนี้ออกมาถือว่าเลวร้ายที่สุดแล้วกัน เพราะเป็นรัฐธรรมนูญที่คนไทยส่วนใหญ่ไม่ยอมรับ จึงอยากบอกให้พี่น้องผู้รักประชาธิปไตยทั้งหลาย ยึดมั่นในหลักการ อะไรที่ไม่เข้าตามหลักการนี้ ไม่เอา

ปชป.จี้เปิดเผยเนื้อหา รธน.

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ขอเรียกร้องให้คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญเปิดเผยรายละเอียดเนื้อหาต่างๆของร่างรัฐธรรมนูญให้ประชาชนทุกภาคส่วนได้รับทราบครบถ้วนโดยเร็ว ไม่มีการปิดบังใดๆ เพื่อป้องกันความขัดแย้ง ตลอดจนป้องกันปฏิกิริยาไม่ยอมรับรัฐธรรมนูญที่อาจเกิดขึ้นและลุกลามออกไปในอนาคต เพราะนอกจากประเด็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันในขณะนี้แล้ว ประชาชนยังต้องการทราบว่ามีประเด็นใดที่จะเพิ่มเติมเข้ามานอกเหนือจากนี้หรือไม่ เนื่องจากในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา กมธ.ยกร่างฯมีการ เพิ่มเติมประเด็นต่างๆ ที่เป็นเรื่องใหม่ และมีผลกระทบต่อโครงสร้างทางการเมืองของประเทศ ทั้งเรื่องประชาธิปไตย อำนาจบริหาร นิติบัญญัติหลายประเด็นเข้ามา โดยที่ประชาชนไม่ล่วงรู้มาก่อน ถ้าเป็นเช่นนั้น สุดท้ายผลที่ได้คือประเทศย้อนกลับไปซ้ำรอยอดีตอีก

อ่านไต๋จงใจเขียนให้ รธน.ถูกคว่ำ

นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า เท่าที่ดูเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญมีหลายประเด็นไม่เป็นประชาธิปไตย ทั้งเรื่องที่มานายกฯคนนอก และล่าสุดเรื่องคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ รวมถึง การเสนอญัตติตั้งคำถามทำประชามติให้ 4 ปีแรกของการใช้รัฐธรรมนูญ มีรัฐบาลปรองดองเพื่อการปฏิรูปนั้น จะทำให้ สปช.ที่จ้องคว่ำร่างรัฐธรรมนูญมีแนวร่วมมากขึ้น เมื่อก่อนอาจไม่อยากแสดงตัวมาก เพราะเนื้อหายังไม่ชัด แต่พอมีสองเรื่องล่าสุดออกมา จึงมีเหตุผลบอกประชาชนได้ว่า จะตัดสินใจคว่ำเพราะ รัฐธรรมนูญไม่เป็นประชาธิปไตย ดูแล้ว กมธ.ยกร่างฯเหมือนเขียนจงใจให้รัฐธรรมนูญถูกคว่ำ เพราะโอกาส ที่รัฐธรรมนูญจะถูกคว่ำใน สปช.มีน้อยกว่าถูกคว่ำ ในชั้นการทำประชามติ ถ้าคว่ำในชั้นการทำประชามติ จะยืดเวลารัฐบาลได้มากกว่า ผู้ร่างกับ คสช.ต้องบอก ประชาชนตรงๆว่า ทำแบบนี้ต้องการยืดอำนาจออกไปหรือไม่ อย่าจงใจเขียนให้รัฐธรรมนูญมีปัญหาจนประชาชนเข้าใจยาก เพื่อให้รัฐธรรมนูญถูกคว่ำ

ชงทำประชามติตั้งซุปเปอร์องค์กร

นายวิรัตน์ กัลยาศิริ อดีต ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า อยากให้ กมธ.ยกร่างฯชี้แจง ให้ชัดเจนว่า การทำงานของคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ จะไม่ก้าวก่าย ไม่แทรกแซงการทำงานของรัฐบาลในอนาคต หากจะมีการตั้งกรรมการยุทธศาสตร์ฯ อาจจะต้องผ่าน การทำประชามติจากประชาชน มิเช่นนั้นแล้วจะกลายเป็นเพียงความเห็นของคนเพียง 36 คน ทั้งนี้ ก่อนนำเรื่องนี้ไปทำประชามติ กมธ.ยกร่างฯต้องทำความเข้าใจกับสังคมก่อนว่ายุทธศาสตร์ที่ใช้ต้องเป็นยุทธศาสตร์ที่ประชาชนเห็นชอบแล้ว หรือคิด กันเอง แนวคิดการตั้งรัฐบาลแห่งชาติมีหลักต้องไม่ซูเอี๋ย ที่ผ่านมารัฐบาลเสียงข้างมากใช้อำนาจเกินขอบเขต ออกนโยบายประชานิยมโดยไม่คำนึงถึงความเสียหายของประเทศ จนเกิดการทุจริตคอร์รัปชัน

สปช.เย้ยซุปเปอร์รัฐบาลไร้ราคา

นายวันชัย สอนศิริ สปช. กล่าวว่า การที่ กมธ.ยกร่างฯให้ตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์ปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ จำนวน 23 คน ให้มีอำนาจแก้วิกฤติการเมืองต่างๆ และมีอำนาจรัฏฐาธิปัตย์ทั้งนิติบัญญัติและบริหาร แต่จำกัดไว้แค่กรณีต้องมีวิกฤติการเมืองเท่านั้น หากทำได้เท่านี้ ตนยังรณรงค์ที่จะคว่ำร่างรัฐธรรมนูญเหมือนเดิม เพราะหากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง มอง คสช.เป็นปฏิปักษ์แต่ต้นจะต้องบั่นทอนดิสเครดิต คณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯว่า เป็นปลาคนละน้ำ มีที่มาจากเผด็จการ เมื่อไม่ให้ราคาคณะกรรมการชุดนี้ก็ไปไม่เป็น เพราะหากนายกฯและประธานรัฐสภาไม่เรียกประชุม เพราะถือว่ามีข้าราชการ และ ส.ส.ในมือ ท่องคาถาว่ามาจากประชาชนโดยตรง งานการปฏิรูปประเทศและสร้างความปรองดองก็เป็นหมัน ขอเรียกร้องให้กล้าเขียนในสิ่งที่เป็นรูปธรรม เมื่อมาจากการยึดอำนาจต้องกล้าใช้อำนาจเพื่อเปลี่ยนแปลงประเทศให้ดีขึ้น โดยให้มี ส.ส.300 คน จากเลือกตั้งและ ส.ว.200 คน จากการสรรหาร่วมเป็นรัฐสภาถ่วงดุลกัน

หวั่นเป็นช่องทางแสวงอำนาจ

นายประเสริฐ ชิตพงศ์ สปช.สงขลา กล่าวว่า หลักการของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯนั้น ให้คอยทำหน้าที่สอดประสานกับรัฐบาลปรองดองที่จะเสนอเป็นคำถามประชามติ แต่สิ่งที่ต้องระวังคือ หากคณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯชุดนี้ คอยแต่แสวงหาอำนาจของตนเอง ไม่คิดถึงผลประโยชน์ของชาติเป็นหลักแล้ว จะทำให้มีปัญหาใหญ่เกิดขึ้นตามมาได้ ส่วนการตั้งคำถามประชามติเรื่องรัฐบาลปรองดองแห่งชาตินั้น เห็นด้วย น่าจะเป็นทางออกที่ดีสำหรับประเทศ ด้วยการให้พรรคคะแนนอันดับ 1 และ 2 มาร่วมจัดตั้งรัฐบาลในระยะเปลี่ยนผ่านของการออกจากความขัดแย้งของประเทศที่สะสมมานาน อย่างไรก็ตามขึ้นอยู่กับว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะผ่านความเห็นชอบของ สปช.หรือไม่ โดยกระแสขณะนี้ยังอยู่ที่ 50 ต่อ 50

ห่วง ปชช.ไม่เข้าใจเหตุผลจัดตั้ง