ดัชนีหุ้นไทยวันที่ 3 มิ.ย.58 ปิดที่ 1,482.07 จุด บวก 5.20 จุด มีมูลค่าซื้อขาย 36,478.77 ล้านบาท
บล.เอเซียพลัส แนะกลยุทธ์การลงทุนช่วงนี้ยังเน้นหุ้นที่คาดว่าจะได้ประโยชน์เงินบาทอ่อนค่า เชื่อว่าการใช้นโยบายการเงินผ่อนคลาย บวกกับ แนวโน้มการขายตราสารหนี้ของนักลงทุนต่างชาติ ซึ่งได้ขายสุทธิ 2.6 หมื่นล้านบาท ในเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา และขายสุทธิ 1.15 หมื่นล้านบาท จากต้นปี 58 ถึงปัจจุบัน เทียบกับที่ซื้อสุทธิ 2.07 แสนล้านบาท และ ซื้อสุทธิ 4.2 แสนล้านบาท ในปี 57 และ 56 ตามลำดับ
ล้วนเป็นปัจจัยกดดันให้เงินบาทอ่อนค่า โดยลงมา 33.73 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ และมีแนวโน้มที่จะแตะ 34 บาท ซึ่งเป็นระดับที่อ่อนค่ามากสุด ตั้งแต่เดือน ก.ย.52 ซึ่งเป็นช่วงวิกฤติซับไพร์ม แต่ถือว่าอ่อนค่าไปในทิศทางเดียวกับประเทศเพื่อนบ้าน และเป็นผลดีต่อภาคส่งออกที่มีรายได้ในรูปสกุลดอลลาร์สุทธิ
จึงแนะให้สะสมหุ้นในกลุ่มต่อไปนี้คือ กลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ คือ HANA (ให้มูลค่าพื้นฐาน 48 บาท) ตามด้วย DELTA (มูลค่าพื้นฐาน 78 บาท), KCE (พื้นฐาน 60 บาท) และ SVI (พื้นฐาน 5.20 บาท) รวมทั้ง VNG (ให้มูลค่าพื้นฐาน 10.25 บาท) TUF (มูลค่าพื้นฐาน 26 บาท), CPF (พื้นฐาน 28 บาท) และ CFRESH (พื้นฐาน 3.41 บาท) รวมถึงหุ้นเดินเรือเทกองที่มีรายได้เป็นสกุลดอลลาร์ และได้ประโยชน์จากราคาน้ำมันที่ตกต่ำในปัจจุบัน คือ RCL (มูลค่าพื้นฐาน 14.7 บาท)
มีข่าว PACE แจ้งผลการขายหุ้นเพิ่มทุน 600 ล้านหุ้น ว่าได้รับการตอบรับจากนักลงทุนล้นหลาม โดยขายได้หมดภายใน 1 สัปดาห์ ขณะที่ “สรพจน์ เตชะไกรศรีซีอีโอของ PACE ยังได้ใช้สิทธิ์ซื้อหุ้นเพิ่มทุนเต็มจำนวน ทำให้ล่าสุดถือหุ้นใน PACE ทั้งสิ้น 41%
ส่วนที่มีข่าวว่า “สรพจน์” ขายหุ้นออก 146 ล้านหุ้น หรือ 5.48% นั้น แจงมาชัดๆว่าเป็นการโอนหุ้นให้ นายสุเมธ และนางยุพา เตชะไกรศรี ซึ่งเป็นบิดาและมารดาของนายสรพจน์ แถมแจ้งกลต.เรียบร้อยแล้ว!!
ปิดท้าย ตลาดหลักทรัพย์ฯ ร่วมกับ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ชวนฟังข้อมูลโรดโชว์กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโรงไฟฟ้าพระนครเหนือ ชุดที่ 1 กฟผ. (EGATIF)” ซึ่งเป็นกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานกองแรกของไทยที่สนับสนุนโดยรัฐวิสาหกิจ โดยเข้าลงทุนในสิทธิรายได้ค่าความพร้อมจ่ายไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าพระนครเหนือ ชุดที่ 1 เป็นเวลา 20 ปี ถือเป็นการใช้ประโยชน์จากตลาดทุนในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานประเทศ และเป็นโอกาสที่ผู้ลงทุนจะได้ร่วมลงทุน!!
อินเด็กซ์ 51