บทบาทของท่าเรือ นอกจากเป็นจุดเชื่อมโยงระบบเศรษฐกิจของประเทศเข้ากับตลาดต่างประเทศ ยังเป็นแหล่งรวมทางการค้าที่สำคัญของแต่ละประเทศ
การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) รายงานผลดำเนินงานให้บริการเรือสินค้า และตู้สินค้า ผ่านท่าเรือสำคัญของประเทศ คือ ท่าเรือกรุงเทพ ท่าเรือแหลมฉบัง ท่าเรือพาณิชย์เชียงแสน ท่าเรือเชียงของ และ ท่าเรือระนอง ในรอบปีงบประมาณ 2557 ไว้ว่า
ท่าเรือกรุงเทพ (คลองเตย) มีเรือเทียบท่าทั้งสิ้นจำนวน 3,185 เที่ยว มีสินค้าผ่านท่าคิดเป็นน้ำหนัก 21.422 ล้านตัน มีตู้สินค้าผ่านท่า (รวมตู้เปล่า) จำนวน 1.519 ล้านทีอียู
ท่าเรือแหลมฉบัง จ.ชลบุรี มีเรือเข้าเทียบท่าทั้งสิ้น 6,600 เที่ยว มีสินค้าผ่านท่าคิดเป็นน้ำหนัก 72.264 ล้านตัน มีตู้สินค้าผ่านท่า 6.459 ล้านทีอียู
ท่าเรือพาณิชย์เชียงแสน จ.เชียงราย มีเรือเทียบท่า 8,144 เที่ยว มีสินค้าผ่านท่า 370,726 ตัน
ท่าเรือเชียงของ จ.เชียงราย (ตั้งอยู่ตรงข้ามเมืองห้วยทราย แขวงบ่อแก้ว สปป.ลาว) มีเรือเทียบท่าทั้งสิ้น 241 เที่ยว มีสินค้าผ่านท่า 40,629 ตัน
และ ท่าเรือระนอง มีเรือเทียบท่า 356 เที่ยว มีสินค้าผ่านท่า 244,000 ตัน ตามลำดับ
เรือตรี ทรงธรรม จันทประสิทธิ์ ผู้อำนวยการท่าเรือกรุงเทพ รักษาการแทนผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) บอกว่า ในภาพรวม กทท.มีปริมาณตู้สินค้าผ่านท่าเรือเพิ่มขึ้น ทั้งที่ท่าเรือกรุงเทพและท่าเรือแหลมฉบัง
โดยปีงบประมาณ 2557 มีตู้สินค้าผ่านท่าเรือทั้งสองแห่งรวมถึง 7.978 ล้านทีอียู หรือคิดเป็นสัดส่วนเพิ่มขึ้น 6.79% และมีการขยายตัวของสินค้าผ่านท่าเรือทั้งสองแห่ง เพิ่มขึ้นในอัตรา 6.31%
ตัวเลขดังกล่าว สอดคล้องในทิศทางเดียวกับการเปลี่ยนแปลงของภาวะเศรษฐกิจไทย แม้ว่าช่วงแรกของปีงบประมาณ 57 มีการชะลอตัวจากเหตุการณ์ทางการเมืองที่ยืดเยื้อ แต่ในช่วงปลายปีการส่งออกและนำเข้าของประเทศเริ่มฟื้นตัว
...
เรือตรี ทรงธรรมบอกว่า จากการวิเคราะห์แนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 2558 คาดว่า จีดีพีน่าจะปรับตัวดีขึ้นกว่าปี 2557 โดยกลับมาขยายตัวได้ถึงร้อยละ 4 ซึ่งเทียบกับเมื่อปี 2557 ขยายตัวได้แค่ร้อยละ 1.5
เขามองว่าปีนี้ไม่เพียงจีดีพีของไทยมีแนวโน้มอัตราขยายตัวดีขึ้น ช่วงปลายปียังมีการรวมตัวเป็น ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) จึงคาดว่า ปีงบประมาณ 2558 ท่าเรือกรุงเทพและแหลมฉบัง ซึ่งเป็นสองท่าเรือหลักของประเทศ น่าจะมีปริมาณตู้สินค้าผ่านท่า ไม่ต่ำกว่า 1.579 ล้านทีอียู และ 6.911 ล้านทีอียู ขยายตัวที่อัตราร้อยละ 4 และร้อยละ 7 ตามลำดับ
ในแง่การเตรียมพร้อมเพื่อรองรับการเปิดเออีซี ก่อนหน้านี้ทางผู้บริหารท่าเรือแหลมฉบังได้เป็นเจ้าภาพจัดงาน “ASEAN Port Symposium 2014” ซึ่งเป็นการรวมตัวครั้งใหญ่ของผู้นำท่าเรือในภูมิภาคอาเซียน เพื่อร่วมกันหาแนวทางบูรณาการด้านการขนส่งทางทะเล และสร้างศักยภาพในการแข่งขันทางการค้าระดับโลก พัฒนาสัมพันธภาพ ความร่วมมือระหว่างท่าเรือต่างๆในกลุ่ม
สมาชิกอาเซียนด้วยกัน
การประชุมดังกล่าว ซึ่งมีผู้บริหารท่าเทียบเรือทั้งสิ้น 10 ประเทศ ได้แก่ ไทย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ บรูไน ลาว กัมพูชา เวียดนาม และ เมียนมาร์ พร้อมทั้งผู้ประกอบการท่าเทียบเรือเอกชน และหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องจำนวนมาก ร่วมประชุมกันไปเมื่อเดือนกรกฎาคม 2557 ที่ จ.ชลบุรี
การประชุมได้ข้อสรุปว่า แม้กลุ่มประเทศอาเซียนมีระบบเครือข่ายการขนส่งทางเรือที่มีรูปแบบหลากหลาย แต่เมื่อทั้ง 10 ประเทศก้าวเข้าสู่เออีซีในปลายปีนี้ ต้องมองภาพรวมการบริหารที่ใหญ่ขึ้นจากการรวมตัวกันของสมาชิก เช่น พึ่งพาทรัพยากรทางเศรษฐกิจร่วมกัน เสริมสร้างความแข็งแกร่งนำไปสู่การสร้างโอกาสทางการค้าร่วมกัน
ในแง่ของผู้ประกอบการทุกภาคส่วน ต้องเร่งปรับตัว และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยเฉพาะการพัฒนาระบบ “โลจิสติกส์” ซึ่งปัจจุบันต้นทุนด้านโลจิสติกส์ของไทย ยังสูงกว่าหลายประเทศในภูมิภาค เป็นการบ้านที่ผู้ประกอบการไทย ต้องเร่งหาทางแก้
กลุ่มอาเซียนมีระบบเครือข่ายการขนส่งทางเรือที่พึ่งพากัน ทั้งระดับประเทศ ระดับภูมิภาค และระดับโลกอยู่แล้ว ความเชื่อมโยงด้านการขนส่งทางทะเลภายในกลุ่มอาเซียนเป็นไปด้วยดี จึงน่าจะพร้อมรองรับการขนส่งสินค้าปริมาณมหาศาล ทั้งภายในอาเซียนด้วยกัน และประเทศอื่นนอกกลุ่มได้ดี
นอกจากนี้ เพื่อเป็นการเตรียมพร้อมรองรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปลายปี 2558 การท่าเรือแห่งประเทศไทย ยังได้เปิด เส้นทางเดินเรือระบบตู้สินค้า ที่ ท่าเรือระนอง จ.ระนอง สู่ประเทศเมียนมาร์ และกลุ่มประเทศ BIMSTEC ได้แก่ บังกลาเทศ อินเดีย เมียนมาร์ ศรีลังกา ภูฏาน เนปาล และไทย
โดย กทท. มุ่งให้ท่าเรือระนองเป็นท่าเรือหลักในการรองรับการขนส่งตู้สินค้าไปยังกลุ่มประเทศทางฝั่งทะเลอันดามันและเอเชียใต้ โดยเฉพาะกลุ่มประเทศ BIMSTEC เพื่อเปิดประตูการค้า และกระตุ้นเศรษฐกิจไทย เชื่อมโยงสู่เศรษฐกิจโลก
การเปิดเส้นทางเดินเรือดังกล่าว นับเป็นจุดเริ่มที่ดี และเป็นก้าวสำคัญของท่าเรือระนอง ในการสร้างความร่วมมือกับสายการเดินเรือ S.A.K เพื่อขนส่งตู้สินค้าผ่านเข้า-ออกเป็นประจำ ณ ท่าเรือแห่งนี้
นอกจากนี้ กทท. ยังอยู่ระหว่างเจรจาประสานความร่วมมือในการจัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับทางการท่าเรือของเมียนมาร์ (Myanmar Port Authority) ซึ่งกำกับดูแลท่าเรือต่างๆ ในกรุงย่างกุ้ง
เนื่องจากท่าเรือระนอง ตั้งอยู่บนเส้นทางยุทธศาสตร์สำคัญทางเศรษฐกิจ ช่วยร่นระยะทางในการเดินเรือสินค้าไปยังเมียนมาร์ และประเทศทางฝั่งทะเลอันดามัน หรือมหาสมุทรอินเดียลงประมาณ 3 เท่า ให้เหลือเพียง 4-7 วัน เมื่อเทียบกับเส้นทางเดินเรืออ้อมผ่านแหลมมะละกา ซึ่งต้องใช้เวลาประมาณ 15-20 วัน
ขณะที่ท่าเรือเชียงแสน ก่อนหน้านี้ นายสุรพงษ์ รงศิริกุล รองผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทยพร้อมคณะ ได้เดินทางไปหารือกับผู้บริหารระดับสูงของฝ่ายจีน เพื่อเจรจาเปิดเส้นทางการขนส่งสินค้าในลุ่มแม่น้ำโขง เชื่อมโยงการค้า ระบบขนส่ง และโลจิสติกส์ระหว่างจีนตอนใต้กับอาเซียน ผ่านท่าเรือเชียงแสน
รวมทั้งพัฒนาความร่วมมือเพื่อสร้างเครือข่ายธุรกิจขนส่งตู้สินค้าระหว่างท่าเรือเชียงแสน กับท่าเรือตามลำน้ำโขงของจีน เช่น ท่าเรือกวน-เหล่ย ท่าเรือก๋านหล่านป้า เป็นต้น
โดยได้เจรจากับบริษัท Chonqing New Jinhang Group Co.Ltd. เพื่อพัฒนาระบบโลจิสติกส์ทางน้ำ เชื่อมไทยสู่อาเซียน และเตรียมความพร้อมในการนำเรือตู้สินค้า มาเปิดให้บริการเดินเรือเที่ยวแรกระหว่างท่าเรือเชียงแสนกับท่าเรือก๋านหล่านป้า
ทั้งนี้ทางกรมเจ้าท่าของจีนยืนยันจะปล่อยน้ำลงมาเพื่อยกระดับน้ำในเส้นทางการเดินเรือในแม่น้ำโขง ระหว่างท่าเรือเชียงแสนกับท่าเรือของจีนให้สามารถเดินเรือได้สะดวก ปลอดภัยตลอดทั้งปีที่ระดับน้ำลึกเฉลี่ย 3.5-4 เมตร รองรับเรือขนาด 500 ตัน เพื่อส่งสินค้าออกไปทางแอฟริกา และยุโรปผ่านท่าเรือเชียงแสน และท่าเรือระนองในรูปแบบของการขนส่งต่อเนื่อง
เพื่อสร้างโอกาสทางการค้าการลงทุนสินค้าเกษตรแปรรูป ช่วยประหยัดเวลาการขนส่งจากตะวันตกของจีนไปยังประเทศดังกล่าว
ทั้งหมดคือตัวอย่างเกมรุกที่ท่าเรือไทย เตรียมปูความพร้อม ก่อนเปิดประตูสู่เออีซีอย่างเป็นทางการในปลายปีนี้.